นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมาที่รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้องดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า โดยให้ลูกค้านำถุงผ้าหรือภาชนะอย่างอื่นมาใส่ สินค้าเอง แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติกที่ไทยมีปัญหาเรื่องนี้อย่างมาก และคนไทยกำลังปรับตัว
แต่ตนมีข้อกังขาว่า ทำไมไม่ให้ผู้ผลิตหรือร้านค้าร้านขายดังกล่าว รับภาระในการจัดเตรียมถุงกระดาษ แบบบางๆ เป็นวัสดุรีไซเคิลที่ย่อยสลายง่ายไว้บริการลูกค้า ซึ่งอยู่ในวิสัยที่กระทำได้ ในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เขาก็ทำเช่นนี้
นางลดาวัลลิ์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือมีการผลิตถุงกระดาษ ถุงพลาสติกใส่ของจากธรรมชาติ เช่น มันสำปะหลังที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับถุงพลาสติก หากรัฐบาลส่งเสริมก็จะช่วยให้มันสำปะหลังมีราคาสูงขึ้น และใช้มาตรการจูงใจให้ผลิตและจำหน่ายในราคาที่ไม่แพง ส่วนลูกค้าคนไหนจัดเตรียม ถุงผ้าหรือวัสดุอื่นใดมาจากบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ดี
เพราะขณะนี้มีการแสดงออกในลักษณะประชดประชันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ปรากฏเป็นคลิปและข้อความต่างๆ ในสื่อออนไลน์ เช่น การใช้กระป๋องตักน้ำ ถุงปุ๋ย ตะกร้าใบใหญ่ ฯลฯ มาใส่สินค้าที่ร้านสะดวกซื้อ
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า ต้นทุนของร้านค้าที่ลดลงจากการไม่ต้องให้ถุง หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายถุงผ้า เหตุใดจึงไม่มีการพูดถึงราคาสินค้า ซึ่งไม่ได้ลดลงเลย
"การรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนที่จะร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ถุงพลาสติกนั้นตนเห็นด้วย แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่สร้างภาระให้กับประชาชนจำนวนหนึ่งโดยที่พ่อค้าร้านขายของได้ประโยชน์และได้กำไรอย่างเดียว ปกติชาวบ้านก็มีชีวิตที่ลำบากอยู่แล้ว ทั้งปัญหาการเดินทาง การกินการอยู่ การตกงานขาดรายได้ การมีรายได้ไม่เพียงพอ รัฐบาลคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ตนอยากให้รัฐบาลไปรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อว่าอย่าเอากำไร ลูกค้ามากเกินไปนัก" นางลดาวัลลิ์ กล่าวทิ้งท้าย
"ศรีสุวรรณ" จ่อร้อง สคบ.สอบร้านค้าสะดวกซื้อเอาเปรียบผู้บริโภค
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ออกมาณรงค์และนำร่องงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยสิ้นเชิง ในบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่กว่า 43 ภาคี อาทิ ห้างเซลทรัล เดอะมอลล์ บิ๊กซี เซเว่น อีเลฟเว่น โลตัส ฯลฯ โดยเริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสอินเทรนด์ไปทุกวงการอยู่ในขณะนี้นั้น
แต่การงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวดังกล่าว กลับมิได้มีการเตรียมการหาภาชนะอื่นใดมาใช้ทดแทนให้กับประชาชนผู้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อที่จะได้ลดต้นทุนด้านการจัดเตรียมถุงพลาสติกไว้ให้บริการลูกค้าลง แถมมีห้างสรรพสินค้าบางรายฉวยโอกาสในการโขกสับเรียกค่าภาชนะบรรจุสินค้าในราคาที่สูงเกินควร โดยที่ผู้บริโภคไม่สามารถปฏิเสธได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของร้านค้าที่จะต้องเตรียมหาภาชนะอื่นมาให้บริการลูกค้าฟรีมิใช่มาขูดรีดเอากับลูกค้า และดูเหมือนภาครัฐก็เพิกเฉย ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.61
การดำเนินการดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบและละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทั้งนี้แม้การรณรงค์การแบนถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่สังคมไทยส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่การที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จะฉวยโอกาสในการลดต้นทุนในการบริการโดยไม่แจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการซื้อสิ้นค้าในร้านของตน โดยไม่มีการจัดเตรียมภาชนะอื่นใดที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาให้บริการทดแทน เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคในการจัดเตรียมภาชนะไปใส่สินค้าเอง แม้จะมีประชาชนจำนวนมากนำกระถัง ถุงผ้า ถุงปุ๋ย เข่ง กะละมัง ตะกร้า ฯลฯ ไปเตรียมใส่สินค้า โดยถ่ายรูปนำมาแชร์กันในโซเชียลมีเดียอย่างสนุกสนานนั้น แต่ก็เป็นเพียงกระแสวูบวาปชั่วพักชั่วครู่ของคนไทยบางกลุ่มเท่านั้น หากแต่ในระยะยาวรัฐบาล และห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อจะต้องจัดหาภาชนะบรรจุสินค้าทดแทนมาให้บริการผู้บริโภคจึงจะชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ให้ใช้อำนาจตาม ม.4 ประกอบ ม.10(1)(9) ของ พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ในการกำหนดมาตรการอย่างใด ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคดังกล่าวโดยเร็ว โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 6 ม.ค.63 เวลา 13.30 น. ณ.สำนักงานคณะกรรมการคุมครองผู้บริโภค ชั้น 5 ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม.