ไม่พบผลการค้นหา
ธ.ก.ส. ลงพื้นที่สุรินทร์ ขับเคลื่อนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/2568 กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรมีเงินทุนในระหว่างชะลอการขายข้าว และป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดที่ส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ ตั้งเป้ารองรับข้าวเปลือกรวม 4.5 ล้านตัน

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ไพศาล หงษ์ทอง ทองคำ เกตุโชติ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. และผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ลงพื้นที่ขับเคลื่อนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยได้พบปะพูดคุยกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ชมขั้นตอนการดำเนินงานและชี้แจงโครงการของพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ รวมทั้งร่วมวัดยุ้งฉางที่เกษตรกรใช้เก็บข้าวเปลือกในช่วงชะลอการจำหน่าย เพื่อประเมินคุณสมบัติและพิจารณาวงเงินให้กู้ โดยยุ้งฉางต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่โครงการกำหนดไว้

โดยมีเกษตรกรผู้มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กว่า 600 ราย วงเงินรวม 50 ล้านบาท ณ ศาลากลางหมู่บ้านแสงตะวัน และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุรินทร์ จำกัด ตำบลตาอ็อง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

ฉัตรชัย เปิดเผยว่า ตามที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปีการผลิต 2567/68 ตามนโยบายรัฐบาล กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อ 2 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินรวม 35,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในตลาด ป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดที่ส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2567/68 และสถาบันเกษตรกรที่รับรวบรวมข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำและมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานประกอบอาชีพและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามจำเป็นในระหว่างชะลอการขายข้าวเปลือก 

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บ และรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้เกษตรกรอีก 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเองได้รับ 1,500 บาทต่อตัน ส่วนกรณีฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งคาดการณ์ว่า จะรองรับปริมาณข้าวเปลือกได้รวมกว่า 4.5 ล้านตัน

สำหรับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุรินทร์ จำกัด (สกต. สุรินทร์) ถือเป็นต้นแบบสหกรณ์การเกษตร ขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีสมาชิกกว่า 120,500 คน ที่มีชื่อเสียงในการดำเนินงานด้านการรับซื้อ - รวบรวมผลผลิตข้าวจากสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ และการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยเริ่มจากการรับซื้อข้าวเปลือก ทั้งข้าวสดและข้าวแห้ง จากสมาชิก ให้ราคาเฉลี่ยสูงกว่าตลาด เฉลี่ยตันละ 12,000 – 15,000 บาท เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและลดความกังวลด้านความผันผวนของราคาข้าวในตลาดให้กับเกษตรกรในพิ้นที่ 

หลังจากนั้น สกต. จะนำข้าวไปจำหน่ายในรูปแบบของข้าวเปลือก และนำข้าวเปลือกมาแปรรูปด้วยการสีแปรข้าวเปลือกหอมมะลิไปสู่ข้าวสาร ด้วยโรงสีข้าวของสกต.สุรินทร์ ที่มีกำลังการผลิต 120 ตันต่อวัน โดยวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวสารให้กับสมาชิกเครือข่ายสหกรณ์และร้านค้าในและต่างจังหวัด ภายใต้แบรนด์ “สกต.สุรินทร์” และ “A-Rice” รวมถึงการรับผลิตข้าวสารให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 

โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา สกต.สุรินทร์ สามารถผลิตและจำหน่ายข้าวสารได้ปริมาณกว่า 3,800 ตัน และสามารถสร้างรายได้เป็นเงินกว่า 116 ล้านบาท และยังได้เข้าร่วมมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ในปีการผลิต 2566/67 โดยสามารถรวบรวมข้าวได้ปริมาณกว่า 102,000 ตัน เป็นเงินกว่า 1,249 ล้านบาท 

ส่วนปี 2568 สกต.สุรินทร์ ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 ภายใต้วงเงินให้กู้กว่า 200 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายการรับซื้อข้าวสดจากสมาชิกเกษตรกร ราคาเฉลี่ยตันละ 12,000 บาท ซึ่งคาดการณ์ว่า จะสามารถรวบรวมข้าวเปลือกในรูปแบบของข้าวสดได้ เป็นจำนวนกว่า 80,000 ตัน เป็นเงินจำนวน 964 ล้านบาท

นอกจากนี้ สกต. สุรินทร์ ยังดำเนินงานด้านการรับซื้อและรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และยางพารา การผลิตและแปรรูปผลิตผลการเกษตร เช่น การแปรรูปข้าวเปลือก และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น รวมถึงจัดหาสินค้ามาจำหน่ายแก่สมาชิก อาทิ ปุ๋ย พันธุ์พืช น้ำมัน และอุปกรณ์การเกษตรที่เกี่ยวข้อง และมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรในพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิกสกต. ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการเกษตร เช่น แปลงสาธิตเพื่อให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน และการปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ผลต่าง ๆ เป็นต้น