วันนี้ (23 มกราคม 2568) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน คณะผู้บริหาร บุคลากร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สังกัด สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จำนวนกว่า 400 คน และเปิดศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ด้วย โดยมี นายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และ คณะผู้บริหารสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมให้การต้อนรับ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างให้โอวาท บุคลากร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นทางออกของหลักนิติธรรม รัฐบาลอยากให้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นที่พึ่งพิงของประชาชน และต้องการให้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ใช้อาเซียนเป็นฐาน เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมระหว่างประเทศ อาทิ ปัญหาการค้ามนุษย์ ฯลฯ เป็นต้น สิ่งที่อาเซียนต้องการและอยากได้ คือ ความเป็นจริง จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยากให้แยกออกเป็น 3 คำ คือ กฏหมาย-กระบวนการยุติธรรม และ ความเป็นจริง
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวด้วยว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีเครื่องมือและบุคลากรที่มีความพร้อม สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ สะท้อนได้จากการดำเนินงานที่สำคัญที่ผ่านมา (2567) ที่มีการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนามของประเทศไทย ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลบุคคลสูญหายกว่า 3,000 ราย พร้อมผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ช่วยตอกย้ำเรื่องการให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และช่วยอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังสามารถตรวจสารเสพติดในตัวคนได้จากเส้นผม เพื่อพิสูจน์ทราบถึงประวัติการใช้ยาเสพติดได้อย่างแม่นยำ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล และกระทรวงยุติธรรม พัฒนาการดำเนินงานด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมของไทยให้เข้มแข็ง
ศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิติมานุษยวิทยา (Center of Excellence in Forensic Anthropology: CEFA) ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งที่จะเป็นศูนย์รวมความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติมานุษยวิทยา เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและบูรณาการ เพื่อให้เป็นแหล่งกิจกรรมทางวิชาการ การวิจัย และการให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์กระดูกเพื่อระบุข้อมูลทางชีวภาพของบุคคลจากชิ้นส่วนกระดูกที่หลงเหลืออยู่แก่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาองค์ความรู้และการพิสูจน์หลักฐานทางนิติมานุษยวิทยา เพื่อช่วยสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
2. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการตรวจสารเสพติดในเส้นผม (Center of Excellence in Hair Drug Testing: CEHDT) มีวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์รวมความรู้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสารเสพติดในเส้นผม เพื่อสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านการตรวจพิสูจน์ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่หน่วยงานต่างๆ และประชาชน เพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผมของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานเพียงแห่งเดียวของประเทศในการให้บริการตรวจสารเสพติดในเส้นผม ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล โดยสามารถตรวจหายาและสารเสพติดในเส้นผมได้ครอบคลุมชนิดมากที่สุด นอกจากนี้ มีการจัดทำฐานข้อมูลผลการหาสารเสพติดในเส้นผมของเด็กและเยาวชน ที่ทำให้ทราบถึงการเสพ และข้อมูลความชุกของการใช้ยาเสพติดในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเฝ้าระวังการเสพซ้ำ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศต่อไป
3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิติรังสีวิทยา (Excellent Center in Forensic Radiology: ECFR) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานแรกๆ ของประเทศไทยที่เริ่มนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มาใช้ร่วมในการตรวจผ่าชันสูตรศพ โดยได้เริ่มการให้บริการดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2559 โดยเฉลี่ย มีการบริการตรวจศพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อยู่ที่ 700 ศพต่อปี ปัจจุบันสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของศพอยู่ในฐานข้อมูล จำนวนมากกว่า 5,000 ราย ตามแผนปฏิบัติราชการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความมุ่งมั่นที่จะก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิติรังสีวิทยา เพื่อให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านนิติรังสีวิทยา เป็นหน่วยงานต้นแบบสำหรับการศึกษาดู งานเกี่ยวกับการให้บริการทางด้านนิติรังสีวิทยา รวมทั้ง สนับสนุนและส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเพื่อยกระดับมาตรฐานงานทางด้านนิติรังสีวิทยาของประเทศต่อไป