ไม่พบผลการค้นหา
'จุรินทร์' ให้กรมการค้าต่างประเทศเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมะพร้าว และองค์กรพิทักษ์สัตว์เข้าพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจ หลังถูกกล่าวหาว่าไทยใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ประเด็น 'มะพร้าวและผลิตภัณฑ์ส่งออกมะพร้าว' ของไทยถูกจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ PETA (พีต้า) กล่าวหาว่าใช้แรงงาน-ทารุณกรรมลิง โดยรองนายกฯ ชี้แจงว่า ปัญหาที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ก็คือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว เรื่องนี้เคยปรากฏเป็นประเด็นมาก่อนแล้ว แต่สุดท้ายก็ชี้แจงทำความเข้าใจ จนกระทั่งช่วงนี้ก็เกิดประเด็นขึ้นมาอีก จึงจำเป็นต้องหาทางชี้แจง

ก่อนหน้านี้ที่เคยหารือกับผู้ประกอบการแปรรูปกะทิและผลผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้รับการชี้แจงว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้นส่วนใหญ่เป็นเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวมากกว่า แต่การใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีปรากฎแล้ว แต่ภาพการใช้ลิงเก็บมะพร้าวที่ใช้ทางการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตอาจจะยังปรากฏในคลิปอยู่ และทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความเข้าใจคลาดเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 8 ก.ค.ที่จะถึง ตนได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้ผลิตกะทิและผู้ผลิตแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าวมาหารือกันหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อจะได้หาแนวทางร่วมกันในการที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศผู้นำเข้าที่ยังสงสัยอยู่ รวมทั้งองค์การพิทักษ์สัตว์ที่ต้องการข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะได้ข้อสรุปอีกครั้งหนึ่งว่าจะประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจร่วมกันในรูปแบบไหนอย่างไรและมีแผนจะเชิญทูตที่ประจำอยู่ในไทยที่ยังมีข้อสงสัยไปดู

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ไปดูการผลิตและการเก็บมะพร้าวภาคอุตสาหกรรมของจริงจะได้เห็นภาพว่าเป็นอย่างไร จะได้ไม่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อไป เพราะต้องการที่จะคงตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยในตลาดต่างๆ ในโลกไว้ ถ้าเพิ่มตัวเลขได้ก็จะเป็นเรื่องดี ตนเคยเยี่ยมซูเปอร์มาร์เก็ตในแถบยุโรปบางประเทศพบว่า สินค้ากะทิจากประเทศไทย รวมทั้งผลิตภัณฑ์มะพร้าวก็เป็นที่นิยม แบรนด์จากต่างประเทศบางแบรนด์ก็ใช้มะพร้าวที่ผลิตจากประเทศไทย จะนำรายได้เข้าประเทศ

สำหรับตลาดในสหราชอาณาจักรที่กำลังมีประเด็นต่อต้านการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเกิดขึ้นนั้นปรากฏว่าบรรดาผู้นำเข้าสินค้าจากไทย 100 เปอร์เซ็นต์เป็นซุูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและโรงแรม แต่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นกิจการของชาวเอเชีย ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะในโซนเอเชียอาจจะมีความเข้าใจว่าเป็นอย่างไร แต่ที่มีผลกระทบคือ30 เปอร์เซ็นต์ที่เจ้าของเป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต้องทำความเข้าใจต่อไป ซึ่งวันที่ 8 ก.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปร่วมกันและแก้ความเข้าใจผิด

ส่วนผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทย ผลผลิตในปี 2562 ตกประมาณ 788,000 ตัน และมีโรงงานแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว 15 โรง ซึ่งทั้งหมดเป็นกะทิ 113,000 ตัน โดย 70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือก็ส่งออก

ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ กะทิและมะพร้าวอ่อน แต่ประเด็นปัญหาที่อยู่ขณะนี้ คือ กะทินั้นยอดการส่งออกปีที่แล้วตกประมาณ 12,300 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังอียูร้อยละ 18 มูลค่า 2,250 ล้านบาท ซึ่งในอียูยังแบ่งเป็นการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรอีกร้อยละ 8 มูลค่า 1,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ไทยยังมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มเติมด้วยเพราะว่าไม่เช่นนั้นก็จะไม่พอการส่งออก เช่น นำเข้าจากอินโดนีเซีย เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง