ไม่พบผลการค้นหา
'กูเกิล' แถลง 4 โครงการสำคัญพัฒนาประเทศไทย แต่บ่ายเบี่ยงตอบคำถามเรื่องแผนการย้ายฐานการตั้งบริษัทจากสิงคโปร์

16,000 ล้านบาท คือตัวเลขมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2562 และการเติบโตมหาศาลมากกว่าร้อยละ 200 จะทำให้มูลค่ากลายเป็น 50,000 ล้านบาทในปี 2568

ด้วยศักยภาพและโอกาสในการเติบโตขนาดนั้น 'กูเกิล' จึงเปิดตัวโครงการกูเกิลเพื่อประเทศไทย (Google For Thailand) ภายใต้ธีม 'ไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง' (Leave No Thai Behind) ซึ่งเริ่มครั้งแรกในปี 2561 และดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบันเพื่อหวังเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงให้กับประชาชนไทย

'สเตฟานี่ เดวิส' กรรมการผู้จัดการกูเกิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการกูเกิลเพื่อประเทศไทยมีเป้าหมายสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่

1. การสร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยี

2. การส่งเสริมทักษะดิจิทัล

3. การพัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน

4. การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

google for thailand
  • 'สเตฟานี่ เดวิส' กรรมการผู้จัดการกูเกิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงการดีคืนสู่คนไทย

ในงานแถลงโครงการมากมายที่อยู่ภายใต้การนำเสนอ 4 หัวข้อหลักของกูเกิล 'เซอยานารายานา โกดูกูลลา' ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตร โครงการ Next Billion Users กล่าวว่า สิ่งที่กูเกิลร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom Public Company Limited) คือการร่วมมือกันขยายการเชื่อมต่อไวไฟความเร็วสูงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมราว 100 แห่ง

google for thailand
  • 'เซอยานารายานา โกดูกูลลา' ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตร โครงการ Next Billion Users

'เซอยานารายานา' ชี้ว่า ในความร่วมมือนี้ CAT Telecom เป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เสาสัญญาณในพื้นที่ต่างๆ ขณะที่กูเกิลจะเข้ามาช่วยเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาเป็นสปอนเซอร์

ปัจจุบันโครงการนี้ ภายใต้ชื่อ Google Station ให้บริการในท่าอากาศยาน 6 แห่ง ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) รองรับผู้ใช้งานกว่า 140 ล้านคน / ปี อีกทั้งยังมีการประจายตัวอยู่ที่สถานีขนส่งต่างๆ ทั้งรถตู้และรถทัวร์ รวมไปถึงสถานศึกษาและโรงพยาบาล และในย่านชุมชนอย่างคลองเตย 

กูเกิล.jpg

ภาพจาก : Google Station

ขณะเดียวกันในมิติของการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กของไทย หรือ เอสเอ็มอี 'อภิชญา เตชะมหพันธ์' หัวหน้าฝ่ายบริการเพื่อลูกค้าประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้ค้าไทยกว่าร้อยละ 80 ยังคงอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์และไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งเธอมองว่าการมีหน้าร้านออนไลน์ผ่าน 'Google My Business' จะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าได้

สังฆทาน-ร้านค้า-เสาชิงช้า

สิ่งที่ 'Google My Business' เข้ามาช่วยร้านค้า คือการเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งยังเพิ่มยอดเข้าชมเว็บไซต์มากกว่า 1 แสนล้านครั้งในแต่ละเดือน 

บนแพลตฟอร์มนี้ เมื่อผู้ประกอบการเข้าไปลงทะเบียนแล้ว ซึ่งสามารถทำได้ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นพันธมิตรของกูเกิล และผ่านกระทรวงพาณิชย์ เว็บไซต์ร้านค้าของผู้ประกอบการจะแสดงผลในหน้าการค้าหาของผู้บริโภค ทั้งรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ รูปภาพ รวมถึงแผนที่ 

'กูเกิล' ยังนำเสนอการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาใช้ในการทดลองร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถีในมิติของการช่วยตรวจคัดผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตา ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการทดลอง รวมถึงโครงการแสดงภาพนิทรรศการศิลปะบนโลกออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality)

รวมทั้ง 'กูเกิล' ยังออกมาตั้งศูนย์พัฒนาความรู้และทักษะด้านการตลาดดิจิทัลให้กับผู้ที่อยู่ในสายงานหรือผู้ที่อยากจะเข้ามาเริ่มสายงานนี้ นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กรุ่นใหม่ผ่านแผนการอบรมทักษะของครูและผู้ปกครองที่สามารถนำมาสอนบุตรหลานได้

แค่โครงการดียังไม่พอ ?

ทุกโครงการที่ถูกพูดถึงข้างต้น ล้วนเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะคนไทยให้ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในภาวะที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว 

อย่างไรก็ตาม 'กูเกิล' กลับยังไม่ยอมย้ายฐานการตั้งบริษัทมาอยู่ที่ประเทศไทยเสียทีจน 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกปากชมและขอบคุณกูเกิลอยู่หลายครั้งที่เข้ามาช่วยรัฐบาลสร้างโครงการดีๆ ให้ประชาชน ต้องออกมาถามและกดดันกูเกิลว่าเมื่อไหร่จะหันมาลงทุนตั้งบริษัทที่ไทยเสียที 

afp - singapore - สิงคโปร์ - merlion - เมอร์ไลออน


"ทำไมต้องสิงคโปร์ 70 ล้านคนอยู่ในไทย เงินบาทเราก็แข็งเอาแข็งเอาเพราะรัฐบาลเข้มแข็ง" สมคิด กล่าว

ถ้าจะมองให้ลึกว่าทำไมกูเกิลไม่ยอมมาตั้งบริษัทที่ไทยให้อย่างเป็นทางการสักที ทั้งๆ ที่บริษัทก็ได้ประโยชน์ทั้งกำไรเม็ดเงินหรือกำไรข้อมูลมหาศาล คงหนีไม่พ้นเรื่องของภาษี

ปัจจุบันกูเกิลของอาเซียนตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ด้วยสิทธิต่างๆ ด้านภาษีที่ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของบริษัท อย่างไรก็ตาม 'กูเกิล' ก็เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้บริษัทได้ข้อมูลมหาศาลจากผู้บริโภคในไทยและส่งผลต่อการทำธุรกิจ แต่เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการทำให้ภาครัฐไม่สามารถเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกูเกิล 

'อธิภัทร มุทิตาเจริญ' อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับวอยซ์ออนไลน์ว่า แม้ล่าสุดรัฐบาลจะออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทข้ามชาติ แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มาจากกำไรของบริษัทถือว่าเทียบกันไม่ได้เลย

อธิภัทร มุทิตาเจริญ
  • 'อธิภัทร มุทิตาเจริญ' อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนวิธีที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวต้องว่ากันในระดับทวิภาคี ซึ่งปัญหาอยู่ที่ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองน้อยมากเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ประเทศต้นกำเนิดกูเกิล ส่วนการขอให้ กูเกิล มาลงทุนในไทยเองก็ดูเหมือนจะยังไม่เป็นผล

คำถามสำคัญคือรัฐบาลพึงพอใจแล้วหรือกับการเข้ามาลงทุนโครงการพัฒนาบุคลากรของประเทศ ขณะที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีที่ควรจะได้จากการเข้ามาทำธุรกิจของบริษัทข้ามชาติ