จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ได้รับฉายาว่า 'จอมพลผ้าขาวม้าแดง' เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาททางการเมืองไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย หลังจากก่อเหตุยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ 16 กันยายน 2500
ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2500 ประกาศให้จอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจาก "เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ"
ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ก็ประกาศยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยอ้างว่าประเทศไทยกำลังถูก 'ลัทธิคอมมิวนิสต์' คุกคาม และออกประกาศคณะปฏิวัติ 57 ฉบับ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้ง
จนกระทั่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "ตามที่ได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เพื่อให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้จัดร่างขึ้น" และจอมพลสฤษดิ์อยู่ในตำแหน่งนายกฯ จนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 ธ.ค.2506 และเป็นนายกฯ คนแรกที่เสียชีวิตในขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง
หลังจบพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2507 ได้ไม่นาน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า 'พ.ต.เศรษฐา และ ร้อยโทสมชาย ธนะรัชต์' บุตรชายของจอมพลสฤษดิ์ ร่วมกันยื่นฟ้องร้อง 'ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์' ผู้เป็นแม่เลี้ยง เพื่อขอแบ่งทรัพย์สมบัติจำนวนกว่า 40 ล้านปอนด์ ขณะที่เดอะนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์มีจำนวนกว่า 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ 'ไทยรัฐ' รายงานว่า "บุตรชายทั้ง 2 คนของจอมพลสฤษดิ์กล่าวหาว่า ท่านผู้หญิงวิจิตรา พยายามจะรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ไว้ คิดเป็นเงิน 2,874,009,794 บาท รวมกับอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายที่ไม่สามารถจะประมาณได้ แต่ท่านผู้หญิงวิจิตรากล่าวว่า ตัวเธอรู้เพียง มีเงินเพียง 12 ล้านบาท เท่านั้น"
คดีฟ้องร้องระหว่างทายาทจอมพลสฤษดิ์และแม่เลี้ยงเพื่ออ้างสิทธิในทรัพย์สินที่เป็นมรดก ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ และสื่อไทยเรียกว่าเป็น 'คดีอื้อฉาว' แห่งยุค ในขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ในขณะนั้นตั้งข้อสงสัยถึงแหล่งที่มาของจอมพลสฤษดิ์ โดยระบุว่า จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก แต่หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจและดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่กี่ปีก็กลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเอเชีย ร่ำรวยทั้งที่ดิน เงินทอง ข้าวของหรูหรา
จนกระทั่งวันที่ 22 ต.ค.2507 ผู้พิพากษาตัดสินให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน แต่ไม่ได้แจกแจงว่าทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์มีจำนวนเท่าใด แต่ก็ส่งผลให้รัฐบาลไทยหลังจากนั้นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการฉ้อราษฎร์บังหลวงของจอมพลสฤษดิ์ และพบว่ามีการนำเงินแผ่นดินไปใช้ในธุรกิจส่วนตัว รวมถึงเลี้ยงดูอนุภรรยา 'อย่างน้อย' 31 ราย
ส่วนเงินแผ่นดินที่ถูกนำไปใช้ส่วนตัวประกอบด้วย เงินงบประมาณ, เงินสืบราชการลับของสำนักนายกรัฐมนตรี และเงินจากกองสลากกินแบ่งของรัฐ แต่ทรัพย์สินส่วนหนึ่งถูกยึดเพื่อนำไปจัดประมูลหาเงินชดเชยแก่รัฐ ทั้งคฤหาสน์-บ้านพักต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงที่ดิน และรถยนต์หรูราว 71 คัน
นอกจากนี้ สารานุกรมบริตานิกา บันทึกไว้ว่า จอมพลสฤษดิ์ปกครองไทยด้วยระบอบอำนาจนิยม พรรคการเมืองถูกแบน หนังสือพิมพ์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือวิพากษ์วิจารณ์ถูกสั่งปิด และมีหลายเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่นโยบายต่างประเทศเน้นการสนับสนุนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้