ไม่พบผลการค้นหา
ในวาระครบ 10 ปีเหตุการณ์สูญเสียจากการชุมนุมทางการเมืองของ นปช. เมื่อปี 2553 บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ยังคงทวงถามความยุติธรรมให้บิดาของตัวเอง ขณะที่ 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' เคยย้ำผ่านที่ประชุมสภาถึงเหตุการณ์ชุมนุมครั้งนั้นไม่ได้มีการใช้สไนเปอร์เพื่อสังหารผู้บริสุทธิ์

"แค้นมาก ใครบอกเดียร์ว่าอย่าโกรธอย่าแค้น ไปเจ้าคิดเจ้าแค้นเขาทำไม เฮ้ย! เอ้า พ่อตายทั้งคนนะ แล้วตายโดยที่ไม่ใช่ป่วยหรือแก่ตายนะ ตายด้วยการโดนยิงที่หัว (เสียงสั่น) เป็นใคร ใครจะไม่แค้น เป็นคุณคุณจะให้อภัยคนที่ทำเหรอ พ่อตายทั้งคนนะ พ่อตายแล้วเดียร์ก็ไม่เหลือใคร แน่นอนเดียร์ เดียร์โกรธ"

น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ระบุผ่าน 'มติชนสุดสัปดาห์' ฉบับวันที่ 8-14 ต.ค. 2553

ปี 2553 'ขัตติยา' หรือ เดียร์ ที่ขณะนั้นในวัย 29 ปี ต้องสูญเสียบุพการีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง หรือ นปช. เมื่อเดือน พ.ค. 2553 ด้วยคมกระสุนจากปืนสไนเปอร์จากที่สูงระหว่างเดินคุ้มกันสถานที่ชุมนุมของ นปช. บริเวณสวนลุมพินี

พล.ต.ขัตติยะ ในชุดทหารลายพราง ต้องจบชีวิตลงท่ามกลางมวลชนคนเสื้อแดง โดยทิ้งไว้เพียงคำพูดสุดท้ายก่อนหน้าที่จะปลิดชีพ ว่า "กองกำลังทหารไม่สามารถเข้ามาในนี้ได้"

'ขัตติยา' เคยบอกไว้ว่า "จุดเปลี่ยนของคุณพ่อ คือไม่มีใครให้โอกาสคุณพ่อทำงานในกองทัพ คุณพ่อติดยศ พล.ต. มา 10 กว่าปี ทำยังไงให้ตัวคุณพ่อได้รู้สึกมีอะไรตื่นตัวตลอด คุณต้องทำงานภาคประชาชน นี่คือสิ่งที่เดียร์มองจากคุณพ่อ ยิ่งพอโอนมาด้านการเมืองแล้วประชาชนที่รักคุณพ่อก็ให้การตอบรับดีแล้วจะไม่ให้คุณพ่อรักเขาแล้วคุณพ่อจะทำเพื่อเขาได้อย่างไร กับอีกทางหนึ่งให้เขาหยุดอยู่ตรงนั้นมาตั้งนานโดยไม่ได้รับคำชื่นชมอะไรเลย"

บทสรุปเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 จบลงด้วยการพ่ายแพ้ของมวลชนคนเสื้อแดง แกนนำ นปช. หลายคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหา

ในขณะที่เหตุการณ์ดังกล่าวต้องจบลงที่ผู้บริสุทธิ์และผู้ร่วมชุมนุมต้องสังเวยชีวิตให้กับการกระชับพื้นที่ของฝ่ายรัฐบริเวณใจกลางกรุงเทพมหานครกว่า 90 ราย

1 ปีแห่งการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของ 'ขัตติยา' และ 1 ปีให้หลังของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง ซึ่งข้อเรียกร้องในขณะนั้นต้องการให้ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

ขัตติยะ เสธ แดง เสื้อแดง นปช 3563500.jpg

(พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ขณะร่วมฝึกการ์ดเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553 ก่อนที่เขาจะถูกสังหารด้วยกระสุนปืนจากที่สูงเมื่อค่ำคืนวันที่ 13 พ.ค. 2553)

ปี 2554 'ขัตติยา' มีสถานะเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ส่วน 'อภิสิทธิ์' เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' มีสถานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย

8 ส.ค. ปี 2556 สภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในขั้นรับหลักการวาระที่ 1

แม้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติ 300 เสียงต่อ 126 เสียงเห็นชอบให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้

แต่บรรยากาศการอภิปรายของผู้ที่ถูกพาดพิงที่เป็นฝ่ายค้านเคยเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2553 และ ส.ส.ซีกรัฐบาลที่เป็นแกนนำ นปช. ก็ระอุดุเดือดไม่น้อย

และเหตุการณ์ครั้งนี้ 'ขัตติยา' ใช้สิทธิประท้วงกลางสภา เพื่อต่อสู้ทวงความยุติธรรมให้กับบิดาของเธอ

ผ่านบันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 3 สมัยสามัญทั่วไป เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2556

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขอใช้สิทธิพาดพิงกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายพาดพิงตนเอง

โดยนายสุเทพ ในฐานะรองนายกฯ เมื่อปี 2553 และเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. ชี้แจงประเด็นที่ถูกพาดพิงว่าเป็นรัฐบาลแรกของโลกที่เอาสไนเปอร์ (Sniper) มาจัดการกับประชาชน เอาปืนส่องประชาชนตามหัวมุมตึก

"ผมขอกราบเรียนชี้แจงต่อท่านประธานและเพื่อนสมาชิกว่าผมไม่เคยสั่งให้ทหารไปฆ่าประชาชน และทหารทุกคนที่มาปฏิบัติหน้าที่นั้น สํานึกและตระหนักดีว่าเป็นทหารของชาติเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ออกมาปฏิบัติหน้าที่ เพราะได้รับคําสั่งของผม ซึ่งเป็นผู้ที่มีอํานาจตามกฎหมายในขณะนั้น ในฐานะที่เป็นรัฐบาล เมื่อมีคนก่อจลาจล ก่อการร้าย ฆ่าคน เผาบ้านเผาเมือง รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องระงับเหตุ ผมจึงได้ออกคําสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุร้าย เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ให้ความปลอดภัยกับประชาชน"

"ไม่เคยสั่งให้ทหารไปฆ่าประชาชน กรณีที่เกิดการฆ่ากันตาย เพราะว่ามีผู้ก่อการร้ายเอาอาวุธสงครามทั้งปืนเอ็ม 16 (M16) ปืนอาก้า (AK) ปืนคาร์บิน (Carbine) เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 (M79) อาร์พีจี (RPG) ซึ่งไม่มีสิทธิไม่มีอํานาจที่จะถืออาวุธเหล่านั้นมาเดินอยู่กลางถนนราชดําเนิน นอกจากถืออาวุธมาแล้ว ก็ยังใช้อาวุธนั้นฆ่าเจ้าหน้าที่และเป็นการฆ่าที่วางแผนเอาไว้ก่อน ยกตัวอย่างเช่นกรณีการฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม"

"คุณณัฐวุฒิได้กล่าวว่าเป็นรัฐบาลแรกของโลกที่เอาปืนสไนเปอร์มาจัดการกับประชาชน เอาปืนส่องประชาชนตามหัวมุมตึกก็ไม่เป็นความจริงครับ ไม่ได้เอาปืนสไนเปอร์ไปส่องดักยิงประชาชนด้วยความเมามันในอํานาจแต่อย่างใด แต่ว่าที่จําเป็นต้องให้มีพลแม่นปืนขึ้นไปประจําอยู่ในพื้นที่สูงข่ม เป็นการดําเนินการเพื่อคุ้มครองชีวิตเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ ที่ไปตั้งด่าน ไปตั้งจุดสกัด อยู่ตามจุดต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ผู้ก่อการร้ายออกไปก่อกรรมทําเข็ญกับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร พลแม่นปืนที่ว่านั้นไม่ใช่ปืนสไนเปอร์ ปืนสไนเปอร์นั้นเป็นปืนพิเศษมีความยาวเป็นพิเศษ มีลักษณะปืนเป็นพิเศษ แต่ปืนที่ใช้นั้นเป็นอาวุธประจํากายของทหารตามปกติแต่ว่าได้มีการดัดแปลงติดกล้อง ไม่ใช่ปืนสไนเปอร์และไม่ได้ตั้งใจที่จะเอาไปเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีคําสั่งของผมชัดเจนว่าให้ใช้พลแม่นปืนนี้ยิงระงับผู้ก่อการร้ายที่มุ่งทําร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์คนที่ถูกยิงนั้น คือ บรรดาผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวมาครับ ท่านประธานครับ"

ณัฐวุฒิ เสื้อแดง นปช  _Del383357.jpgทหาร เสื้อแดง นปช g3576889.jpgเสื้อแดง นปช สลายชุมนุม 3591689.jpg

(ภาพ - เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 )

  • วิวาทะกลางสภา ปมสไนเปอร์สังหาร เสธ.แดง

ระหว่างนั้น น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ใช้สิทธิประท้วงนายสุเทพว่า "ดิฉันคิดว่าผู้ที่กําลังกล่าวว่าตัวเองโดนถูกพาดพิงอยู่นั้นกําลังกล่าวความเท็จค่ะ ท่านกล่าวว่าไม่มีสไนเปอร์ในเหตุการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว แล้วนี่คืออะไรคะ บุพการีของดิฉันโดนยิงในวันที่ 13 พ.ค. 2553 ฝีมือใครคะ ฝีมือฆาตกรคนไหนคะ กรุณากล่าวความจริงในสภาค่ะ ท่านโกหกคนทั้งประเทศ"

จากนั้น นายสุเทพ ชี้แจงว่า "ท่านประธานครับ กรณีของคุณพ่อท่านที่เสียชีวิต จนเดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ทราบว่าฝ่ายไหนทําให้เสียชีวิต ยังไม่เคยมีผลของการสอบสวน เพราะฉะนั้นจะมากล่าวหานี่ไม่ได้"

"จะมากล่าวหาผมนี่ไม่ได้ ผมไม่ทราบจริง ๆ ว่าฝ่ายไหน อาจจะเป็นพวกคุณยิงกันเองก็ได้เพราะว่า..."

ระหว่างนั้น นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่1 พยายามตัดบทให้เข้าประเด็นถัดไป) แต่นายสุเทพ ก็ยังคงใช้สิทธิชี้แจงประเด็นที่ถูกพาดพิงว่า ""ถ้าไม่พูดพาดพิงผมก็ไม่ชี้แจง แต่ผมต้องชี้แจงให้จบ เพราะว่าก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต ท่านได้ออกมา"

ทำให้ น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า "ท่านประธานค่ะ ดิฉัน ขัตติยา สวัสดิผลค่ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือว่า เสธ. แดง ที่พวกท่านพรรคฝ่ายค้านคงจะรู้จักดีโดยเฉพาะท่านค่ะ ท่านสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะ ศอฉ. ดิฉันลุกขึ้นประท้วง เพราะว่าท่านกล่าวเท็จ บอกว่าไม่มีสไนเปอร์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และดิฉันก็ลุกขึ้นพูดว่าที่พ่อดิฉันถูกยิงเสียชีวิตก็จากปืนสไนเปอร์ ส่วนใครจะเป็นคนทํา จะเป็นจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ อันนั้นอยู่ในกระบวนการยุติธรรมค่ะ แต่ดิฉันเชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศมีคําตอบอยู่ในใจแล้วว่าใครคือฆาตกรค่ะ ขอบคุณค่ะ"

นายสุเทพ ระบุว่า "ผมยืนยันกับท่านประธานว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ใช้สไนเปอร์ ส่วนจะเป็นใครนั้นก็เป็นรัฐบาลอยู่แล้วก็ไปสอบสวนกันเถอะครับ"

การประชุมสภาฯ ครั้งนั้น 'สุเทพ' พยายามย้ำว่า การชุมนุมเมื่อปี 2553 เป็นการชุมนุมที่มีกาแบ่งงานกันทำเป็นระบบจึงไม่ใช่การมาชุมนุมโดยบริสุทธิ์โดยสันติโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการมาชุมนุมโดยเอาอาวุธมาด้วย เอากองกําลังมาด้วย

ขณะเดียวกัน 'สุเทพ' ยังชี้แจงในสภา ถึงประเด็นที่ถูกทวงถามถึงความรับผิดชอบที่ทำให้เกิดการสูญเสียในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553

"ผมได้อภิปรายในสภาแห่งนี้หลายครั้งยืนยันความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอยู่ในขณะนั้น ผมได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเพื่อที่จะระงับเหตุที่มีผู้ก่อการร้ายมาก่อเหตุกลางกรุงเทพมหานคร และผมได้ประกาศทั้งในสภาแห่งนี้และต่อสาธารณชน รวมทั้งการทําบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าพนักงานสอบสวนทุกครั้งทุกคดีที่เรียกผมไปสอบ ว่าผมรับผิดชอบในคําสั่งทุกคําสั่งที่ได้สั่งการต่อเจ้าหน้าที่ และคําสั่งทุกคําสั่งที่ ศอฉ. หรือศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้นได้ออกคําสั่งไปนั้นเป็นคําสั่งที่ผมลงนามทุกคําสั่ง ผมรับผิดชอบทุกคําสั่ง"

  • สุเทพย้ำเสียใจที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกฆ่า แต่ไม่ขอโทษให้กับผู้ก่อการร้าย

"ผมได้บอกไปว่าไม่ต้องไปกล่าวหาคนอื่น ไม่ต้องไปโยงถึงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกฯ เมื่อปี 2553) ผมเป็นคนสั่ง ผมเป็นคนรับผิดชอบ และผมพร้อมที่จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ข้อเท็จจริงในศาล ผมได้แสดงความรับผิดชอบตามที่แกนนําคนเสื้อแดงเรียกร้อง โดยผมได้ไปมอบตัวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2553 ตอนที่ท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เสนอแผนปรองดอง แล้วเขาตั้งเงื่อนไขว่าจะรับแผนปรองดองของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ถ้าผมจะไปมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อผมไปมอบตัวแล้วปรากฏว่านายใหญ่สั่งมาไม่ยอม เพราะว่านายใหญ่ยังไม่ได้อย่างที่ต้องการ ในที่สุดก็ไม่ยอมเข้าแผนปรองดองของท่านอภิสิทธิ์"

"เพราะฉะนั้นผมกราบเรียนกับท่านประธานว่าผมได้แสดงความรับผิดชอบแล้ว เรื่องที่บอกว่าไม่เคยพูดคําว่า เสียใจ ผมได้พูดหลายครั้ง ผมเสียใจจริงๆ ท่านประธาน เสียใจที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฆ่าตาย เสียใจที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเป็นเหยื่อของความมักใหญ่ใฝ่สูงอยากได้อํานาจรัฐ ของผู้ก่อการร้ายเลวทรามต่ำช้าพวกนั้น ผมเสียใจจริง ๆ วันนี้ก็ยังเสียใจอยู่ และได้ข่าวหลายครั้ง แต่ว่าเรื่องที่จะขอโทษบรรดาผู้ร้ายเหล่านี้ชาติหน้าผมก็ไม่ขอโทษครับ ท่านประธานครับ"

สุเทพ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
  • 'อภิสิทธิ์' แจงไม่ต้องการสลายชุมนุม

ขณะเดียวกันการประชุมสภาครั้งนั้น ยังมีประเด็นที่ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ผู้นำฝ่ายค้านฯ และนายกฯเมื่อปี 2553 ได้ใช้สิทธิชี้แจงถึงการคลี่คลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ไว้อย่างน่าสนใจ

"การมอบนโยบายในการเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุม ซึ่งศาลแพ่งได้มีคําวินิจฉัยถึง 3 ครั้ง ว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายอยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ รัฐบาลมีสิทธิในการที่จะเข้าไปสลายการชุมนุมได้นโยบายที่เรามอบให้ในขณะนั้นก็ชัดเจนครับท่านประธานครับ ว่าไม่ประสงค์ที่จะเข้าไปสลายการชุมนุม แต่ต้องการที่จะหาทางอํานวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วไปมากที่สุด เท่าที่จะทําได้โดยไม่มีการไปยุติการดําเนินการชุมนุมบนเวทีและสําหรับคนที่ฟัง"

"การปราศรัยบนเวทีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เม.ย. 2553 เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปพยายามทําเช่นนั้น โดยไม่ได้มีการติดอาวุธไปนะครับ แล้วก็รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ดี คณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาก็ดีคอป. ก็ดีก็ยอมรับว่าในเบื้องต้นเข้าไปในลักษณะนั้นกลับปรากฏว่ามีการใช้อาวุธสงคราม มีการยิงระเบิด มีการประทุษร้าย ทําให้เกิดการสูญเสียต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงได้รับอนุมัติให้สามารถที่จะป้องกันตนเองได้ครับ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการที่มีคําสั่งที่จะทําร้ายประชาชน นั่นคือช่วงแรก"

'อภิสิทธิ' ชี้แจงในสภาว่า "ช่วงที่ 2 ในช่วงระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค.2553 รัฐบาลก็ไม่มีนโยบายอีกในการที่จะเข้าไปสลายการชุมนุม แต่เพื่อดําเนินการตามคําวินิจฉัยของศาลแพ่ง จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม ตัดน้ำตัดไฟ ไม่อนุญาตให้คนเข้า แต่อนุญาตให้คนออก แกนนําก็ยังไปร้องศาลเลยครับว่าทําได้หรือไม่ ศาลก็บอกว่าทําได้แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการปิดล้อม ก็ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธเข้ามาโจมตี เจ้าหน้าที่ที่ทําการปิดล้อมอยู่ ก็จึงเกิดการปะทะกัน เพราะมีการป้องกันตัว มีการเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ ส่วนในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ซึ่งก็มีการกล่าวถึงเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ก็เช่นเดียวกันครับ เป็นการเข้าไปเพื่อที่จะไป ถึงแหล่งที่มีการซ่องสุมอาวุธอยู่ที่บริเวณสวนลุมพินีแล้วก็มีการสั่งให้หยุดดําเนินการ หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันว่าเป็นอย่างไร บังเอิญมีการกล่าวถึงกรณีของวัดปทุมวนาราม ผมก็กราบเรียนครับ"

"ผมเคารพที่ศาลได้มีคําสั่งหลังจากการไต่สวน ซึ่งถือว่าเป็นคําสั่งในเบื้องต้นที่พิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งมีการนําเสนอโดยพนักงานอัยการ และประจักษ์พยานที่ถูกอ้างอิงโดยญาติผู้เสียชีวิต แต่กระบวนการต่อไปคือการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมดซึ่งมีหลายข้อเท็จจริงครับ เช่น การตรวจเรื่องของวิถีกระสุน การตรวจสอบอาวุธต่าง ๆ ซึ่งผมทราบว่า ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้นําเข้าไปอยู่ในสํานวนเพื่อส่งให้อัยการดําเนินการในการไต่สวนของศาลในครั้งนี้ ซึ่งเมื่อมีการดําเนินคดีต่อไปก็ต้องไปพิสูจน์กันครับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นครับท่านประธานครับ ถ้าเรามีกฎหมายที่นิรโทษกรรมนี้เราตัดตอนความจริงครับ เพราะถ้าหากว่ามีการพิสูจน์ต่อไปว่าการเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ ท่านประธานครับ"

แม้จะเข้าสู่ปีที่ 10 ทิ้งไว้คราบน้ำตาและความสูญเสียโดยที่ญาติและเหยื่อผู้สูญเสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษและยังต้องเดินหน้าต่อสู้หาความยุติธรรมในทุกปี

ขัตติยะ เสธ แดง เดียร์ ขัตติยา 366479.jpgขัตติยา ขัตติยะ แดง 4366474.jpg

การตายของ พล.ต.ขัตติยะ ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดในกระบวนการยุติธรรม แม้จะล่วงเข้าถึงปีที่ 10

ทว่าบุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ ยังคงย้ำเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 10 ปี ที่พล.ต.ขัตติยะต้องเสียชีวิตจากคมกระสุนอาวุธปืนสไนเปอร์ ว่า "สุดท้าย 10 ปีผ่านไปก็ยังเหมือนเดิม สุดท้ายแล้วกองทัพก็มีทหารคนเดียวที่ออกมายืนอยู่ข้างประชาชน แล้วก็ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยก็คือคุณพ่อ ตั้งแต่ปี 53 - ปี 63 เดียร์ยังไม่เห็นทหารคนไหนที่กล้าออกมาทำแบบคุณพ่อ"

"เราไม่ได้ปล่อย เราก็ยังเดินหน้าเพื่อทวงถามความเป็นจริง และทวงถามความคืบหน้าคดีคุณพ่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีความกลัวถึงการที่เขาจะรีบปิดคดีด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งตอนนี้คดีก็ยังไม่หมดอายุความ เพราะฉะนั้นเดียร์ก็หวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ทุกอย่างมันอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แล้วโอกาสจะเป็นของเรามากขึ้น" ขัตติยา ซึ่งมีดีเอ็นเอ 'ขัตติยะ'อยู่ในสายเลือด ระบุไว้เช่นนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง