ไม่พบผลการค้นหา
สาววัย 37 ปี เจ้าของแบรนด์ SunnyCotton ผ้าอนามัยซักได้ อายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 5 ปี กำลังสร้างปรากฎการณ์สั่นสะเทือนทัศนคติสังคมไทยที่มีต่อ ‘วันแดงเดือด’

หญิงสาวสะบัดผ้าอนามัยชิ้นแล้วชิ้นเล่าที่เพิ่งซักเสร็จเเละตากบนราวเหล็กด้วยความเบิกบาน

เธอเป็นอดีตนักศึกษาด้านสังคมวิทยาชนบทที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรมและทัศนคติของคนที่นั่นได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โลกทัศน์และความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายของเธอ 

“วิธีคิดเรื่องสุขภาพของผู้หญิงญี่ปุ่น จะเน้นเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และการรักษาความอบอุ่นรวมถึงความสมดุลของร่างกายในฤดูกาลต่างๆ ที่เปลี่ยนไป มองว่าการใช้ผ้าอนามัยทั่วไป ซึ่งทำจากพลาสติกนั้นทำให้ร่างกายเย็น และความเย็นก็ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่ดี มีความเครียด เกร็ง ซึ่งสัมพันธ์กับการปวดประจำเดือนและความเจ็บป่วยต่างๆ แต่ผ้าอนามัยแบบผ้าจะทำให้ร่างกายอบอุ่น ผ่อนคลาย และมีพลังชีวิต” เก๋ -เกศินี จิรวณิชชากร เจ้าของแบรนด์ SunnyCotton เล่าถึงแรงบันดาลใจในการผลิตผ้าอนามัยแบบผ้า

หลังเปิดตัวเมื่อปี 2560 นอกจากยอดขายเเล้ว เรื่องท้าทายของเธอคือการเผชิญหน้ากับทัศนคติของคนไทย ที่ยังมองว่า ประจำเดือนนั้นคือเลือดสกปรก ผ้าอนามัยเป็นของต่ำเกินกว่าจะถูกใช้ซ้ำ รวมถึงไร้ความสะดวกสบายในการใช้งาน 

ผ้าอนามัย

ซักได้ - อายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 5 ปี 

เก๋ เกศินี เรียนจบระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ด้านสังคมวิทยาชนบท โดยทำวิจัยในประเด็นเรื่องชุมชนทางเลือก และบทบาทผู้หญิงในสังคมชนบท ใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น 6 ปี และหลงรักผ้าอนามัยแบบซักได้จนเย็บใช้เองมาตลอด

หลังเดินทางกลับมาเมืองไทยเมื่อปี 2559 เธอรู้สึกสงสัยว่าทำไมผ้าอนามัยแบบผ้ายังไม่เป็นที่แพร่หลายในไทย เลยเลือกที่จะมองหาผ้าฝ้ายจากตลาดในเชียงใหม่มาตัดเย็บ และเปิดเพจขายเพื่อสำรวจผลตอบรับ จนกระทั่งค่อยๆ ได้รับความสนใจ และเริ่มเติบโตขึ้นในเชิงธุรกิจ

“ใช้แล้วรู้สึกว่ามันดีมากๆ ก็เลยอยากจะบอกต่อ เพื่อให้คนได้รับรู้ถึงทางเลือกที่มากขึ้น รวมถึงเราเองก็สนใจในประเด็นเรื่องเพศอยู่แล้ว การได้มาทำผ้าอนามัยขายก็กลายเป็นโอกาสให้เราได้พูดในเรื่องที่สนใจ” เธอบอก 

“เราใช้ชื่อ SunnyCotton เพราะต้องการสื่อว่า อยากให้แสงส่องลงมาที่มายาคติ ประจำเดือนไม่ใช่สิ่งสกปรก และความเป็นผู้หญิงไม่ควรถูกกดหรือเอาไปซ่อนในที่มืด”

ผ้าอนามัย

วัสดุสำคัญที่เก๋เลือกใช้คือ ผ้าฝ้ายและผ้าใยกัญชง โดยมีผ้าไนลอนเป็นส่วนเสริมสำหรับรุ่นกันน้ำ ซึ่งวัสดุทั้งหมดสามารถหาได้ภายใน จ.เชียงใหม่ ที่อยู่อาศัยของเธอ 

หลังจากสำรวจตลาดมาสักระยะ SunnyCotton ถูกเปิดขายในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 120 บาท สูงสุดที่ 350 บาท แตกต่างกันตามขนาด

“ต้นทุนของผ้าจริงๆ ไม่สูงมาก แต่ด้วยกระบวนการต่างๆ ที่เป็นงานแฮนด์เมดเกือบทั้งหมด การทำงานกับช่างเย็บที่อยู่ในชนบทซึ่งต้องใช้เวลานานในการฝึกความชำนาญเพราะเป็นแพทเทิร์นที่ใหม่สำหรับทุกคน รวมถึงผ้าทุกชิ้นที่ใช้ก็ต้องผ่านการซักรีดให้นุ่มและสะอาด ทำให้เราคิดว่าราคานี้เหมาะสมกำลังดี เพราะถูกกว่าในต่างประเทศและใกล้เคียงกับราคาของแบรนด์อื่นในไทย เพื่อให้เป็นราคาที่คนไทยเข้าถึงได้”

ผ้าอนามัย

ปัจจุบัน SunnyCotton มียอดขายเฉลี่ยหลายร้อยชิ้นต่อเดือน กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ‘เก๋ เกศินี’ เชื่อว่าเป็นเพราะว่าผู้หญิงกลุ่มนี้เริ่มเบื่อกับวิธีการเดิมๆ อยากทดลองสิ่งใหม่ๆ ใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเริ่มมีความมั่นคงทางรายได้ สามารถลงทุนกับทางเลือกที่แพงในระยะแรกแต่คุ้มค่าในระยะยาวกับอายุการใช้งาน 5-10 ปี นอกจากนี้ยังมีประเด็นของปริมาณประจำเดือนที่ลดน้อยลงกว่าในช่วงวัยรุ่น ทำให้รู้สึกสบายใจที่จะลองเปลี่ยน

สุภาพสตรีวัย 37 ปี กล่าวอย่างมั่นใจว่าประสิทธิภาพและคุณภาพของ SunnyCotton ไม่เป็นรองผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งที่ทำจากพลาสติก 

"ข้างในจะมีผ้าซ้อนกันหลายชั้นและมีชั้นกันน้ำเพื่อป้องกันเลอะ ถ้าใส่กับกางเกงในที่กระชับพอดี ผ้าอนามัยจะไม่เคลื่อนตัวและไม่เลอะออกมา มีลูกค้าคนแรกๆ เป็นสาวน้อยวัย 17 ปีมาเล่าให้ฟังว่าใช้ซันนี่คอตตอนมาตลอดสิบกว่าเดือนที่ผ่านมา ทั้งเดินทางไปต่างประเทศ เล่นโยคะ ขี่จักรยาน ก็ไม่เคยเลอะเลย แต่ก็ยังมีลูกค้าบางท่านที่ประจำเดือนมามากเป็นพิเศษ ก็ปรับตัวโดยการใช้สลับไปกับผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งเพื่อค่อยๆ สร้างความคุ้นเคย”

สำหรับวิธีการใช้งานนั้น ผ้าอนามัยแบบผ้าจะมีกระดุมบริเวณปีก ไว้ยึดติดกับกางเกงใน โดยมีผ้าซึมซับเป็นผ้าสี่เหลี่ยมพับทบแล้วสอดเข้ากับสายคาด ซึ่งระหว่างวันหากต้องการเปลี่ยนผ้า ก็แค่เปลี่ยนผ้าซึมซับเท่านั้น 

“เก็บผ้าที่ใช้แล้วใส่ถุงซิปล็อคหรือกล่องกันน้ำ ก่อนนำกลับไปซักล้างที่บ้าน” เธอให้คำแนะนำ

ผ้าอนามัย

ประจำเดือนไม่ใช่เลือดอันตราย 

ความกังวลในการเริ่มต้นใช้งานผ้าอนามัยซักได้ส่วนใหญ่ คือ ทัศนคติเรื่องความสกปรก อันตราย น่ารังเกียจ รวมถึงความไม่สะดวกสบายในการชำระล้าง 

“ทำความสะอาดง่ายกว่าที่คิดมาก แค่เอาสบู่ก้อนถูที่รอยคราบแล้วแช่ทิ้งไว้ เวลาซักขยี้เบาๆ ก็ออกแล้ว การซักล้างเป็นความธรรมดาเหมือนการซักชุดชั้นใน และทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง ผ่านสีที่แตกต่างไปของเลือดแต่ละเดือน เมื่อได้สัมผัสแล้วก็พบว่ามันไม่ได้มีอะไรน่ารังเกียจ ก็แค่เลือด” 

“คนทั่วไปเชื่อว่ามันสกปรกเพราะกลิ่นเหม็น แต่จริงๆ แล้วหากเป็นภาวะปกติประจำเดือนมีเพียงกลิ่นเหมือนกลิ่นเหล็กแบบจางๆ เท่านั้น ส่วนกลิ่นเหม็นฉุนที่เรารับรู้กันนั้นเกิดจากการไปผสมกับสารดูดซับและความอับชื้นของผ้าอนามัยแบบพลาสติก” เธอบอกและว่า หากใช้ผ้าอนามัยแบบผ้าแล้วเกิดกลิ่นเหม็น นั่นถือเป็นสัญญาณเตือนว่า ร่างกายเรากำลังมีอะไรผิดปกติ

ผ้าอนามัย

ปัจจุบัน SunnyCotton มีอยู่ 4 ขนาดให้เลือกตามช่วงเวลา สรีระของร่างกายและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ไล่ตั้งแต่ขนาดเล็ก ที่เก๋บอกว่าไว้สำหรับใส่ในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือสำหรับคนที่ต้องการใส่แผ่นอนามัยทุกวัน ไปจนถึงขนาดไซส์ M L และ XL ที่เหมาะกับใส่เวลานอน โดยมีทั้งแบบกันน้ำและไม่กันน้ำ 

“สนุกมากที่เราได้ออกแบบและพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ตามความต้องการของแต่ละคน หลากหลายกลุ่มอายุ ทั้งวัยรุ่นไปจนผู้สูงอายุ” เก๋บอกพร้อมรอยยิ้ม 


ผ้าอนามัยแพงเกินไป ? 

รายงานจากประชาชาติธุรกิจ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจตลาดผ้าอนามัยในเมืองไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3-5 ต่อปี มีมูลค่าในแง่ของจำนวนอยู่ที่ 140 ล้านชิ้นต่อเดือน แบ่งเป็น ผ้าอนามัยสำหรับกลางวันร้อยละ 66.3 และผ้าอนามัยสำหรับกลางคืนร้อยละ 33.7 โดยมีโซฟีเป็นผู้นำตลาด มีส่วนแบ่งอยู่ที่ร้อยละ 50 ตามด้วย ลอรีเอะร้อยละ 37, โมเดสร้อยละ 10 และอื่น ๆ ร้อยละ 3 

โดยผ้าอนามัยมีราคาตั้งเเต่ 30 บาทขึ้นไปจนกระทั่งหลักร้อย ซึ่งบรรจุราว 4 ชิ้นขึ้นไปต่อห่อ เมื่อคำนวณแล้วค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยต่อคนต่อปีจะอยู่ที่ราวๆ 1,200 – 2,400 บาท

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้มีกระแสเกิดขึ้นในโลกทวิตเตอร์ เมื่อมีผู้ตั้งคำถามถึงราคาผ้าอนามัย ว่าแพงเกินไปและน่าจะมีการควบคุมเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น 

เก๋ เกศินี เห็นว่า การตั้งคำถามเกี่ยวกับราคาของผ้าอนามัย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตื่นตัวของกระแสการฟื้นฟูพลังผู้หญิง เป็นการสำรวจสิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้แล้วหยิบยกขึ้นมาพูดในพื้นที่สว่าง

"ประเด็นเรื่องราคาผ้าอนามัยเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก เป็นความจริงที่ช็อคสังคมอังกฤษเมื่อได้รับรู้ว่าเด็กนักเรียนหญิงหลายคนไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยจนต้องเอาถุงเท้าหรือกระดาษหนังสือพิมพ์มาใช้แทน หรืออย่างกระแสล่าสุดในทวิตเตอร์ของไทย ก็ทำให้หลายคนตกใจที่ได้รู้ว่ามีคนต้องอดข้าวเพื่อเอาเงินไปซื้อผ้าอนามัย"

ผ้าอนามัย

“เรื่องน่าตกใจเหล่านี้นำไปสู่ดีเบตเรื่องความเท่าเทียมซึ่งใช้คำว่า equity เพราะผู้หญิงกลุ่มที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วก็ยิ่งห่างไกลจากโอกาสขึ้นไปอีก เมื่อพวกเขาไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย ก็ออกจากบ้านไม่ได้ ไปเรียนหนังสือไม่ได้ ไปทำงานไม่ได้ นำมาสู่คำถามที่ว่า มันควรจะแจกฟรี ลดหรือยกเลิกภาษี หรือจัดหมวดหมู่อยู่ในสินค้าที่ต้องควบคุมราคาไหม ซึ่งก็มีการนำร่องในบางประเทศ อย่างเช่นที่เมืองอเบอร์ดีนในสก็อตแลนด์ก็มีการทดลองแจกผ้าอนามัยให้กับผู้หญิงที่มีรายได้น้อยและกลุ่มนักเรียน ไปจนถึงการหยิบยกประเด็นเรื่องการมีประจำเดือนของคนข้ามเพศ ว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยยกระดับประสบการณ์การมีประจำเดือนของพวกเขาได้บ้าง”

ทั้งนี้เมื่อปี 2561 ที่อินเดียได้มีการประท้วงต่อต้านการขึ้นภาษีผ้าอนามัยซึ่งถือเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ จนในที่สุดรัฐบาลต้องประกาศยกเลิกภาษีผ้าอนามัย โดยนักเคลื่อนไหวชี้ว่าเป็นการทลายข้อจำกัดของเด็กหญิง โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งต้องอยู่แต่ในบ้านในช่วงที่มีประจำเดือน ไม่เพียงเท่านั้น

หลายประเทศมีการรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกภาษี โดยให้เหตุผลว่า ผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด โดยบีบีซีรายงานว่า ประเทศที่ยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าประเภทนี้แล้วได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย ไอร์แลนด์ เคนยา ยูกันดา และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เดอะ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ สำนักข่าวจากสหรัฐฯ เคยคำนวณว่า ตลอดชีวิต ผู้หญิงจะต้องจ่ายเงินค่าผ้าอนามัยเฉลี่ย 1,773 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 62,000 บาท

"ลูกค้าของเราส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางขึ้นไป แต่ในอนาคตเราพยายามจะทำให้เข้าถึงคนรายได้น้อย ขาดโอกาส รวมถึงทำในแง่ของกิจกรรมเพื่อสังคม" เก๋บอกถึงความตั้งใจ 

เธอบอกว่าด้วยจำนวนผู้หญิงไทยหลายล้านคนที่กำลังมีประจำเดือน หากเลือกที่จะเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยซักได้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายรวมถึงลดปริมาณขยะไปได้มหาศาล 

"เราคิดว่าผ้าอนามัยแบบผ้าเป็นทางออกหนึ่งที่ยั่งยืน ช่วยประหยัดเงินด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนาน ลดขยะ ดีต่อความรู้สึกและสุขภาพ"

เธอบอกทิ้งท้าย “ชีวิตเรายังมีทางเลือก การที่ผู้หญิงเป็นมิตรกับร่างกายตัวเองและเข้าใจร่างกายตัวเองมันสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้กับใบโลกนี้ และไม่ใช่แค่เฉพาะผู้หญิงแต่รวมถึงทุกๆ คนด้วย”  

ผ้าอนามัยผ้าอนามัยผ้าอนามัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog