ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการคลัง ยัน ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ไม่ได้เอื้อผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก ชี้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์ ลดภาษีเฉพาะที่คำนวณได้ ไม่ใช่ลดอัตราภาษีตามอัตราที่บังคับจัดเก็บ ย้ำปี 2564 กลับมาจัดเก็บภาษีตามอัตราเดิม

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ 2 มิ.ย. 2563 ที่เห็นชอบให้มีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90 ที่จะเริ่มมีการจัดเก็บในเดือน ส.ค.นี้ เนื่องจากเห็นว่าหากเก็บในเวลานี้ประชาชนยังอยู่ในช่วงที่ได้รับความเดือดร้อนจะยิ่งส่งผลกระทบ ดังนั้นจึงให้ลดตามจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ไม่ใช่การลดตามอัตราจัดเก็บภาษี

โดยการลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 จะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจได้รับลดค่าภาษีที่ต้องชำระตามตัวอย่าง ดังนี้

1) กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา บทเฉพาะกาลของแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ได้กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563 – 2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม ร้อยละ 0.01 คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 50 บาท 

2) กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับบ้านหลังอื่นหากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 100 บาท

3) กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น ร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท เป็นต้น

ลวรณ แสงสนิท.jpg
  • ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดไม่เลื่อนการจัดเก็บภาษีออกไป แทนการจัดเก็บเพียงร้อยละ 10 ของอัตราคำนวณภาษีนั้น นายลวรณ ระบุว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีแบบใหม่ที่จะมาจัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนได้ถูกยกเลิกไปแล้ว หากไม่มีการจัดเก็บองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะขาดรายได้

ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเพื่อความเหมาะสมทางเศรษฐกิจสามารถลดอัตราการจัดเก็บลงได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 90 ซึ่งเป็นอัตราเพดานที่ลดได้สูงสุดแล้ว โดยจะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ  39,420 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในปี 2564 จะกลับมาจัดเก็บอัตราภาษีในอัตราเดิม

ทั้งนี้ในส่วนของกฎหมายลูกทั้งหมด 18 ฉบับ ขณะนี้ได้มีการประกาศครบทุกฉบับแล้ว โดยใน 2 ฉบับสุดท้ายที่เป็นการออกร่วมระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง ในการกำหนดภาษีที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยและที่ดินเกษตรกรรม โดยในรายละเอียดของที่อยู่อาศัยทุกประเภท แม้จะมีมากกว่า 2 หลัง หรือมีรายได้จากการปล่อยเช่า ให้คำนวณการจัดเก็บภาษีในอัตราเริ่มต้นที่ร้อยละ 0.02 ซึ่งรายได้ที่ได้จากการปล่อยเช่าไม่ถือเป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรม หรือ ที่อายู่อาศัย เป็นภาษีเงินได้แทน

นายลวรณ ยืนยันว่า การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างข้างต้นไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก แต่เป็นการช่วยเหลือที่คลอบคลุมทุกกลุ่มเพราะทุกคนได้สิทธิในการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในการถือครองทั้งหมด ส่วนจะมีแนวทางการลดภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือไม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :