ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์เชิงลึกคะแนนสอบ PISA 2018 ซึ่งประเมินทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ของกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปีทั่วโลก โดยมีเยาวชนกว่า 600,000 คน จาก 79 ประเทศ เข้าร่วมทดสอบ โดยประเทศไทย มีนักเรียน (อายุ 15 ปี ส่วนใหญ่อยู่ชั้น ม.3-4) จำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียน เข้าร่วมการทดสอบด้วยนั้น พบว่า ผลคะแนนสอบของนักเรียนไทยมีความสัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน คะแนนของนักเรียนไทยที่มีฐานะต่ำสุดห่างจากคะแนนของนักเรียนฐานะในกลุ่มสูงสุด ประมาณ 2.5 ปีการศึกษา แต่มีข้อยกเว้นในกลุ่มนักเรียนที่เรียกว่า กลุ่มช้างเผือก ซึ่งเป็นเด็กไทยที่มีฐานะยากจนกลุ่มล่างสุด 25% ของประเทศ แต่สามารถทำคะแนนได้อยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด 25% ของประเทศ โดยประเทศไทยมีเด็กช้างเผือกกลุ่มนี้จำนวน 13% ของเด็กในกลุ่มเศรษฐฐานะล่างสุด (bottom 25%) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโออีซีดีซึ่งมี 11.3%
“เด็กช้างเผือกส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในเมืองขนาดเล็กและปานกลาง มีพื้นฐานครอบครัวที่พ่อแม่ได้รับการศึกษาเฉลี่ยเพียง 6 ปี หรือมีเพียง 0.55% เท่านั้นที่มีการศึกษาเหนือกว่าระดับมัธยมศึกษา เมื่อเทียบกับกลุ่มพ่อแม่ที่อยู่ในกลุ่มฐานะทางเศษฐกิจและสังคมสูงสุด เกือบ 80% มีการศึกษาในระดับอนุปริญญาหรือมหาวิทยาลัย แต่เด็กกลุ่มช้างเผือกที่ด้อยโอกาสนี้ยังสามารถทำคะแนน PISA ได้ดีเทียบเท่าได้กับเด็กในกลุ่มเศรษฐฐานะสูงสุด” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์ไปถึงคะแนนรายวิชา เด็กช้างเผือกของไทยสามารถทำคะแนนวิทยาศาสตร์ ได้เฉลี่ย 492 คะแนน คณิตศาสตร์ 487 คะแนน การอ่าน 482 คะแนน ทั้งสามวิชามีคะแนนมากกว่าค่าเฉลี่ยของเพื่อนนักเรียนวัยเดียวกันที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุด ราว ๆ ครึ่งปีถึงหนึ่งปีการศึกษา และมากกว่าเพื่อนนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมในระดับเดียวกันถึงสามหรือสี่ปีการศึกษา และมากกว่านักเรียนไทยโดยเฉลี่ยของประเทศราว ๆ สองปีการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสามปีการศึกษาในด้านการอ่าน
นอกจากนี้ เด็กช้างเผือกไทยแม้จะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำสุด แต่กลับมี Growth Mindset (เชื่อมั่นว่าตนเรียนรู้พัฒนาได้) ที่สูง คิดเป็นค่าประมาณ 58% เทียบเท่าได้กับนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มสูงสุด เด็กกลุ่มนี้ยังมีความคาดหวังในการเข้าเรียนอุดมศึกษาที่สูงมาก รวมถึงการมีความสุขและมุมมองเชิงบวกในระดับที่ดี เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มอื่น ๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ดัชนีด้านทัศนคติในชีวิตบางอย่างของเขายังอาจจะไม่สูงเมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กที่มีความพร้อมทางสังคมสูงกว่า เช่น ดัชนีการตระหนักถึงความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) พบว่านักเรียนกลุ่มช้างเผือก มีการตระหนักถึงความสามารถของตนเอง การสนับสนุนทางอารมณ์จากพ่อแม่ การมีความหมายของชีวิต ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน อยู่ในระดับที่ดีมากเมื่อเทียบกับนักเรียนในกลุ่มเศรษฐฐานะของตน แต่ก็ยังมีค่าน้อยกว่านักเรียนในกลุ่มที่มีความพร้อมของครอบครัวกลุ่มสูงสุด
“ที่ผ่านมาเราพบว่าเด็กที่มีฐานะยากจน มีโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับสูงกว่าระดับชั้นม.6น้อยมาก คือแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผลสำรวจของ PISA ช่วยยืนยันว่า หากประเทศไทยสามารถที่จะช่วยเหลือสนับสนุนเด็กที่อยู่ในกลุ่มล่างสุดทางเศรษฐฐานะของสังคม ทั้งในด้านการพัฒนา Growth Mindset (เชื่อมั่นว่าตนเรียนรู้พัฒนาได้) การสนับสนุนให้พ่อแม่มีแนวทางในการสนับสนุนแก่บุตรหลาน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลในโรงเรียนแก่เด็กกลุ่มด้อยโอกาส รวมไปถึงการแนะแนวโอกาสในการศึกษาต่อหรืออาชีพ ก็จะเป็นการช่วยให้เด็กที่อยู่ในกลุ่มช้างเผือกสามารถที่จะเรียนได้สูงที่สุด และพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการทำให้เด็กกลุ่มยากไร้ด้อยโอกาสอื่น ๆ สามารถพัฒนาตนเองให้มาเป็นเด็กช้างเผือกได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งแนวทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่ กสศ. มุ่ง พัฒนาต้นแบบการสนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสให้แก่เด็กช้างเผือกเป็นจริงได้ต่อไป”