สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท.ออกประกาศเรื่อง เงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน ลงนามโดย นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
โดยประกาศได้อ้างถึงการดำเนินการตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(ฉบับที่ 5 ) ที่ประกาศ ณ วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยในข้อ 2(3) กำหนดห้ามหรือจำกัดการดำเนินการหรือการทำกิจกรรมบางอย่างตามพระราชกำหนดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมถึงห้ามผู้ใดใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน เว้นแต่เป็นไปตามประกาศ เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนด เพื่อประโยชน์ในการรักษาความต่อเนื่องของการบินพลเรือนและสนับสนุนการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ให้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19
ผู้อำนวยการ กพท. จึงได้ออกประกาศกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการใช้ท่าอากาศยาน เพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน ดังต่อไปนี้ คือ
1.รายชื่อท่าอากาศยานที่เปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ ให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้
2.ให้ท่าอากาศยานที่ให้บริการเฉพาะการบินภายในประเทศ เปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ เฉพาะระหว่างเวลา 07.00 – 19.00 น. ผู้ดำเนินการสนามบินอาจพิจารณากำหนดระยะเวลาการเปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ให้สั้นกว่าระยะเวลาตามวรรคหนึ่งได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
3.ให้ท่าอากาศยานที่ให้บริการทั้งการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ เปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตจัดตั้งสนามบินหรือท้ายใบรับรองการดำเนินงาน สนามบินสาธารณะ หากท่าอากาศยานใดไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาทำการ ให้เปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้เฉพาะระหว่างเวลา 07.00-19.00 น.
4.ห้ามท่าอากาศยานตาม 3.ให้บริการแก่อากาศยานที่ขนส่งคนโดยสารจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย เว้นแต่อากาศยานนั้นจะเป็นประเภทใดประเภทหนึ่ง คือ อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (State or Military Aircraft) , อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency Landing) , อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical landing) โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง, อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Humanitarian Aid, Medical and Relief Flights) อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา (Repatriation) และอากาศยานขนส่งสินค้า (Cargo Aircraft) เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้ผู้ดำเนินการสนามบินปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เรื่องมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการ กำหนด และประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศที่มีผลบังคับใช้กับท่าอากาศยานโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ผู้โดยสารและบุคคลผู้เดินทางโดยอากาศยานจะต้องรับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในท่าอากาศยานปลายทางและจังหวัดปลายทางที่จะ เดินทางไปโดยเคร่งครัด
สำหรับบัญชีแนบท้าย กพท.แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มท่าอากาศยานที่ให้บริการเฉพาะการบินภายในประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานน่านนคร พิษณุโลก แพร่ แม่สอด แม่ฮ่องสอน ลำปาง ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ระนอง และกลุ่ม 2 ให้บริการทั้งการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ เชียงใหม่ เชียงราย ดอนเมือง สมุย สุวรรณภูมิ สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ หัวหิน อู่ตะเภา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :