ไม่พบผลการค้นหา
สนง.เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลไทยบังคับใช้ร่าง ก.ม.เอาผิดการทรมานและอุ้มหายโดยเร็ว ย้ำหลักการตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR ASIA) ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 17 ก.ค.2563 โดยระบุว่า "จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างกฎหมายเอาผิดการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ต้องมีหลักการตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและอำนวยความยุติธรรมแก่อาชญากรรมร้ายแรงนี้ภายหลังการพิจารณามากว่าทศวรรษ"

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินี้นับเป็นก้าวสำคัญ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังขาดหลักการสากลที่เป็นสาระสำคัญ ทั้งหลักการทรมานเป็นการกระทำต้องห้าม และหลักการไม่ผลักดันกลับไปเสี่ยงภัย (non-refoulement) ซึ่งต่างเป็นสิทธิที่ไม่อาจลดทอนได้ (non-derogable rights) ตามกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้ง คำนิยามของการกระทำผิดในร่างกฎหมายนี้ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

“กฎหมายภายในประเทศจะสามารถช่วยให้เหยื่อและครอบครัวได้รับสิทธิเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมื่อกฎหมายนั้นเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED)” ซินเธีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร กล่าว

ประเทศไทยได้ดำเนินการที่สำคัญเพื่อป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ด้วยการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ เมื่อปี 2550 และลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเมื่อปี 2555 ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นส่วนสำคัญที่รอคอยมานาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่จะสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯได้ และเป็นบริบทที่จำเป็นต่อการให้สัตยาบัน และบังคับใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ

“เวลาและทรัพยากรจำนวนมากได้ทุ่มเทไปกับการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จตลอดหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ภาคประชาสังคมและกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของร่างกฎหมายฉบับก่อนหน้าและฉบับปัจจุบันเสมอมา การที่ประเทศไทยพร้อมที่จะบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีเนื้อหาตามหลักการในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างครบถ้วนนั้น จะแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นในการขจัดการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายให้หมดสิ้น รวมถึงความมุ่งมั่นในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่เหยื่อของอาชญากรรมเหล่านี้” เวลิโก้ กล่าว

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ UNOHCHR เผยแพร่หลังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีรัฐบาลกัมพูชาส่งหนังสือชี้แจงต่อ คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) หลังนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยจากประเทศไทย หายตัวไปขณะอยู่ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยทางการกัมพูชาได้ชี้แจง 2 ประเด็น

1. ตรวจสอบประวัติการเดินทางเข้า-ออกกัมพูชาของนายวันเฉลิมในกัมพูชา ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในระหว่างปี 2557-2558 โดยนายวันเฉลิมได้เดินทางเข้ากัมพูชาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2558 และได้รับการต่ออายุวีซ่าเพื่อพำนักในกัมพูชาชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2560 หลังจากนั้น กัมพูชาไม่เคยได้รับคำขอต่ออายุวีซ่าจากวันเฉลิมอีกเลย

และ 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาไม่มีข้อมูลหรือเบาะแสการหายตัวไปของนายวันเฉลิม นอกเหนือไปจากที่ปรากฎในรายงานข่าว ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กัมพูชาระบุว่าอยู่ในระหว่างการสืบสวนกรณีดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: