ไม่พบผลการค้นหา
โรงงานที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหลายแห่งในจีนได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา ต้องปิดโรงงานต่ออีก 1 สัปดาห์ กระทบทั้งการเงิน-สายการผลิต-อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

โรงงานหลายแห่งในประเทศจีนซึ่งนับเป็นศูนย์กลางสายการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องยืดเวลาเปิดโรงงานในช่วงเทศกาลตรุษจีนออกไป หลังมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV โดยคาดว่าจะกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ซึ่งช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 1 สัปดาห์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสายการผลิตหลายรายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มาตรการของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจะส่งผลกระทบต่อสายการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่องแน่นอน

'แอนเดรย์ นูวแมน โลเร็ค' ผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษา ออน-แท็ป กล่าวว่า หลายบริษัทในซิลิคอนแวลลีย์ที่ทำเรื่องการผลิตสินค้าฮาร์ดแวร์รวมถึงสตาร์ทอัพที่มีฐานการผลิตสินค้าในเอเชีย กำลังเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤต 

ล่าสุด เฟซบุ๊กก็ออกมาประกาศเมื่อวันศุกร์ (7 ก.พ.) ที่ผ่านมาว่า สายการผลิตโอคูลัส เควส ชุดหูฟังที่เป็นความจริงเสมือนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาวิเคราะห์ว่าสินค้าหลักของแอปเปิลอย่าง 'ไอโฟน' อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดย 'หมิงจื้อฉู่ จากบริษัท TF Securities เขียนบทวิเคราะห์ไว้เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า "งานสำรวจชิ้นล่าสุดของเราบ่งชี้ว่า อุปทานของไอโฟนจะได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา ดังนั้น เราตัดตัวเลขประเมินการส่งมอบสินค้าไอโฟนลงร้อยละ 10" 

ขณะที่ 'ทิม คุก' ซีอีโอของแอปเปิล ก็ออกมาประกาศถึงความไม่แน่นอนที่บริษัทเตรียมพร้อมรับมือ โดยสะท้อนสถานการณ์สายการผลิตว่า "ยังไม่แน่ชัด ณ เวลานี้"

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่รู้สึกถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาซึ่งมี 1. มิติด้านรายได้ อาทิ แอปเปิล ไป่ตู้ และซัมซุง 2. มิติด้านการเปิดโรงงาน อาทิ ฮุนได โตโยต้า และราล์ฟ ลอเรน 3. มิติด้านอุตสาหกรรมบริการ อาทิ โรงแรมในเครือไฮแอท และแชงกรี-ลา

อ้างอิง; CNBC, Reuters