แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลเปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังใช้ศาลลับพิเศษสำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายมาจัดการกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและคนที่วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย
แอมเนสตี้ใช้เวลา 5 ปีในการสืบสวนสอบสวน 95 คดีที่มีการไต่ส่วนในศาลอาญาพิเศษ (SCC) ในกรุงริยาดห์ช่วงปี 2011-2019 และสรุปว่า ศาลนี้มักถูกใช้เป็นอาวุธในการปิดปากผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล แม้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะพยายามปรับภาพลักษณ์ให้ดูเหมือนจะมีการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยขึ้นก็ตาม
นับตั้งแต่ปี 2011 ศาล SCC ใช้กฎหมายปราบปรามการก่อการร้ายและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ในการตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม มีการตัดสินโทษจำคุกมากถึง 30 ปี และในบางคดีมีการตัดสินโทษประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นักเขียน นักเศรษฐศาสตร์ ผู้สื่อข่าว ผู้นำทางศาสนา นักปฏิรูป และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคน โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์
ฮีบา โมราเยฟ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าวว่า ทุกขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมของ SCC เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การปฏิเสธการเข้าถึงทนายความ ไปจนถึงการควบคุมตัวไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ และตั้งข้อกล่าวหาจากคำรับสารภาพเพียงอย่างเดียว และเป็นการรับสารภาพระหว่างถูกซ้อมทรมาน
SCC ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 เพื่อดำเนินคดีกับคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ แต่จากข้อมูลเอกสารศาล แถลงการณ์รัฐบาล ตัวบทกฎหมาย และการสัมภาษณ์นักเคลื่อนไหว ทนายความ และบุคคลใกล้ชิดกับคดี แอมเนสตี้กล่าวหาว่า ศาลนี้ได้กลายเป็น “การเย้ยหยันความยุติธรรม” ซึ่งมุ่งทำลายเสรีภาพในการแสดงออกและกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติ
หนึ่งในสิ่งที่ย่ำแย่ที่สุดคือ การที่ SCC พึ่งพาการรับสารภาพจากการถูกซ้อมทรมานเป็นหลัก มีอย่างน้อย 20 คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ในจำนวนนี้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว 17 ราย
ฮุสเซน อัล-ราบี หนึ่งในจำเลยคดีการประท้วงในจังหวัดคาทิฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวมุสลิมชีอะห์อาศัยอยู่จำนวนมาก ได้ถูกประหารชีวิตไปเมื่อปี 2019 แม้เขาจะให้การต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนได้ทำร้ายเขาและขู่ว่าจะแขวนคอและช็อตไฟฟ้า หากไม่ยอมรับสารภาพ เมื่อราบีไม่ยอมรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมให้เขากินข้าวและน้ำ ทำให้เขาต้องเข้าโรงพยาบาล
ทาฮา อัล-ฮัจจี ทนายความฝ่ายจำเลยในหลายคดีกล่าวว่า หลักการสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่อยู่ในส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรมของซาอุดีอาระเบีย
ที่มา : The Guardian, Al Jazeera, Amnesty International