ไม่พบผลการค้นหา
ประเด็นที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุด คือการที่มันไม่ใช่เรื่องการจัดบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดการชีวิตและสภาพจิตใจด้วย

เดือนแรกของปี 2019 ซีรีส์ที่มีคนพูดถึงเยอะที่สุดเรื่องหนึ่งคงหนีไม่พ้น Tidying Up with Marie Kondo ที่แม้จะออกอากาศตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แต่จนถึงช่วงท้ายเดือนผู้เขียนก็ยังเห็นบทความตามเว็บไซต์ต่างๆ เขียนถึงเรื่องนี้แทบทุกวัน ซึ่งก็น่าสนใจดีกว่ามีทั้งเสียงตอบรับด้านบวกและด้านลบ

MarieKondo_04.jpg

มาริเอะ คนโด คือใคร? เธอคือหญิงสาวชาวญี่ปุ่นวัย 34 ปีที่โด่งดังจากการเขียนหนังสือว่าด้วยการจัดบ้านชื่อ The Life-Changing Magic of Tidying Up (ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นในปี 2011 แปลเป็นอังกฤษปี 2014) เธอเรียกวิธีการของตัวเองว่า KonMari Method โดยหนึ่งในไอเดียที่น่าสนใจ (และอาจแปลกประหลาดสำหรับบางคน) คือการถามตัวเองว่าสิ่งของต่างๆ ในบ้าน Spark Joy (ทำให้คุณมีความสุข) หรือไม่ ถ้าใช่ก็เก็บมันไว้ ถ้าไม่ใช่ก็ทิ้งมันไป

สารภาพเลยว่าตอนแรกผู้เขียนก็ตั้งแง่กับซีรีส์ชุดนี้พอควร คิดในใจว่า “สปาร์คจงสปาร์คจอยอะไรของหล่อนกันยะ” แต่พอดูไปสักพัก รู้ตัวอีกทีก็จบครบ 8 ตอนแล้ว (อ้าว)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนโดเป็นคนที่มีเสน่ห์และน่ารักเอามากๆ เธอเป็นหญิงสาวร่างเล็ก พูดจาฉะฉาน เดินสำรวจปีนป่ายไปตามบ้านอย่างมุ่งมั่น แต่ขณะเดียวกันเธอก็มีความโก๊ะกังเดินสะดุดนั่นนี่ หรือทำท่าน่ารักสไตล์โมเอะเวลาพูดว่า Spark Joy จนเหมือนมีประกายอะไรสักอย่างออกมา

แต่เหนือสิ่งอื่นใด เธอเป็นมิตรและปรับตัวเข้าหาคนได้เก่งมาก เธอสามารถสื่อสารและรับมือเจ้าของบ้านชาวอเมริกันในแต่ละตอนได้หมด ไม่ว่าพวกเขาจะมีคาแรกเตอร์แบบไหน บทความจากเว็บฝั่งญี่ปุ่นถึงขั้นบอกว่าเธอจงใจบุกตลาดอเมริกันเพราะเชื่อว่าความคาวาอี้แบบนี้จะเป็นที่หลงรัก และหลังจากโด่งดังที่เมืองนอกแล้วเธอก็สามารถ Re-import ตัวเองกลับเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ (ในบทความรวบรวมคอมเมนต์ทางทวิตเตอร์ของชาวญี่ปุ่นที่ออกไปในทางหมั่นไส้และเหม็นหน้าคนโดกันพอควร)

ในส่วนของวิธีแบบ KonMari Method นั้นผู้เขียนพบว่าหลายอย่างก็มีประโยชน์ทีเดียว ทั้งการม้วนเสื้อผ้าเพื่อลดพื้นที่ เทคนิคการเก็บของในกล่องซ้อนกล่องไปเรื่อยๆ หรือการตัดใจทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือแทบไม่ได้ใช้

อย่างไรก็ดี ซีรีส์ชุดนี้ไม่ได้บอกอย่างชัดเจนมากนักเราควรจัดการกับข้าวของกองพะเนินที่เลือกจะทิ้งอย่างไร แม้ในบางตอนเราอาจจะเห็นเจ้าของบ้านเอาไปบริจาคหรือขายที่ตลาดมือสองก็ตาม

MarieKondo_05.jpg

ซึ่งเรื่องของ ‘การทิ้ง’ นี่เองที่กลายเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่คนโดถูกโจมตี อย่างเว็บ Daily Mail ก็รายงานข่าวว่าในออสเตรเลียเกิดกระแสคนแห่เอาของไปบริจาค จนหน่วยงานต่างๆ ต้องขึ้นป้ายงดรับของชั่วคราว แถมในข่าวยังบอกว่า KonMari นี่เหมือนจะกลายเป็นลัทธิเสียแล้ว อีกประเด็นคือการทิ้งหนังสือที่ทำให้ชาวหนอนหนังสือหัวร้อนและออกมาด่าว่าการทิ้งหนังสือเป็นเรื่องให้อภัยไม่ได้ หนังสือบางเล่มเราก็ไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งอาจจะได้ใช้มัน

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดจาก Tidying Up with Marie Kondo คือการที่มันไม่ใช่เรื่องการจัดบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดการชีวิตและสภาพจิตใจด้วย อย่างครอบครัวผิวสีที่ภายนอกมีความสุขดี แต่ในบ้านเต็มไปด้วยข้าวของยุ่งเหยิงที่บั่นทอนการใช้ชีวิตของเขา หลังจากคนโดเข้าไปช่วยก็ดูเหมือนพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรืออีกตอนหนึ่งที่ว่าด้วยแม่หม้ายที่ต้องตัดใจทิ้งข้าวของของสามีผู้ล่วงลับ ก็เป็นการ Let it go ที่น่าประทับใจมาก

MarieKondo_02.jpg

ส่วนแนวคิด Spark Joy แม้จะมีความน่ากังขาอยู่บ้าง แต่คนโดก็มี ‘ระเบียบ’ และ ‘ลำดับ’ ที่ชัดเจน กล่าวคือ เธอให้เริ่มต้นจากการจัดของง่ายๆ อย่างเสื้อผ้าและหนังสือก่อน แล้วค่อยจัดสิ่งของที่มีคุณค่าทางใจเป็นลำดับสุดท้าย เพราะนั่นคือด่านที่ยากที่สุด

ท้ายสุดแล้วคนโดอาจจะเพียงให้แนวทางถึงการจัดระบบของบ้าน เครื่องใช้ และชีวิต

แต่กับคำถามว่าความสุขคืออะไร หรืออะไรที่ทำให้เรามีความสุขนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาด้วยตัวเอง

MarieKondo_03.jpg