ไม่พบผลการค้นหา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แต่ก็ยังคงโผล่ทำงานในตำแหน่ง รมว.กลาโหม แม้จะล่องหนในการประชุม ครม.ล่าสุดก็ตาม

ปรากฏ “ภาพการเมือง” ล่าสุด ที่ตั้งใจปล่อยออกมาจากทีมโฆษกรัฐบาล คือภาพ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ​ และ รมว.กลาโหม 

ท่ามกลางการประลองกำลังหลังฉากกันอีกรอบ ระหว่างฝ่ายที่ต้องการเขี่ย พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากเก้าอี้นายกฯ และหาก พล.อ.ประยุทธ์ มีอันเป็นไปทางการเมือง จากปมนายกฯ 8 ปี ขึ้นมาจริงๆ อาจมีการชู “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการแทนนายกฯ ขยับเก้าอี้มาเป็นนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองก็มีสิทธิที่เป็นไปได้ 

ประยุทธ์ ประวิตร อนุทิน 6751758.jpg

คนการเมืองที่เล่นเกมอยู่หลังฉากก็มีสิทธิ์คิด เพราะสถานการณ์การเมือง ณ ยุคสมัยนี้ สุดจะคาดเดา ที่คิดว่าเหนือแล้วยังมีที่เหนือกว่า 

แต่อ่านภาษากายจากภาพการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ - พล.อ.อนุพงษ์ - อนุทิน เหมือนเป็นการย้ำว่าเกมนี้ยังถือไพ่เหนือกว่า 

อย่างน้อย ปมนายกฯ 8 ปี ก็มีทีมงาน - แบ็คอัพ ที่คอยสนับสนุน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจว่าจะผ่านไปได้ 

หนึ่งคนในนั้นคือ “พล.ต.วิระ โรจนวาศ” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์

พล.ต.วิระ ไม่ใช่ใครอื่นของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นมือกฎหมายที่อยู่เคียงข้างกันมาตั้งแต่นาทียึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 

วิระ โรจนวาศ -72B5-4540-A91D-F8B7C54FB372.jpeg

เขาถูกส่งไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นต้นขั้วรัฐธรรมนูญ 2560 

อีกทั้ง ตอนที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พล.ต.วิระ ก็เป็น 1 ใน 21 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เป็นมือกฎหมายข้างกายพล.อ.ประยุทธ์ ไม่แพ้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบัน ที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาด้วยกัน ก่อนมาแตกแขนงเป็นแม่น้ำ 5 สาย 

ปมวาระ 8 ปี ในรัฐธรรมนูญ 2560 พล.ต.วิระ จึงรู้ ตื้น ลึก หนา บาง ทุกบรรทัด - วรรคตอน พล.ต.วิระ ชี้แจง – แนว “คำตอบ” ในการสู้คดีบนศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า “เราชี้แจงตามข้อกฎหมาย อะไรควรจะเป็นตรงไหน เวลาอะไร เท่านั้น คงไม่มีอะไรน่ากังวล เนื้อหาที่ส่งไปมีครบทุกประเด็นที่ผู้ร้องเขาร้องมา และข้อกฎหมายเป็นอย่างไร” 

“นายกฯ ไม่ห่วง ท่านให้ดูไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ในกฎหมายมีหลักเกณฑ์อย่างไรก็ว่าไปตามนั้น”“ศาลส่งคำร้องของผู้ร้อง (ฝ่ายค้าน) มา เราก็ตอบไปให้ครบ ศาลคงไม่สั่งเกินคำขอ ดังนั้น เราตอบทุกคำถามที่ถามมา และเรามีข้อกฎหมายที่สนับสนุนไม่สนับสนุนอะไร ตีความตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญกำหนด และที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร และให้ศาลใช้ดุลพินิจอีกครั้งหนึ่ง เพราะศาลคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายมารวมกัน และความเห็นควรจะเป็นอย่างไร ท่านมี 9 คน ก็คงพิจารณารอบคอบและเป็นดุลพินิจของศาล” 

หนึ่งปมที่ฝ่ายค้านยกมาไว้ในคำร้องคือบันทึกการประชุมของ กรธ.ที่ครั้งที่ 500/2561 ทั้งนี้คำร้องฝ่ายค้าน ระบุว่า ได้มีการบันทึกประเด็นการพิจารณาในเรื่องนี้โดยประธานกรรมการ (มีชัย ฤชุพันธ์) ได้กล่าวว่า “ ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้บังคับสามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่” 

ซึ่ง สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า “หากนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”

และประธานกรรมการได้กล่าวโดยสรุปอีกว่า “เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวัน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งด้วยโดยอนุโลม”

การบัญญัติ ในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

มีชัย ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 000_961O6.jpg

ตัดกลับมาที่ พล.ต.วิระ เขาชี้แจงประเด็นเรื่องการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500/2561 ว่า การประชุมเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีจะนับอย่างไร ตอนนั้นคุยกันยังไม่ได้ข้อยุติ และไม่ใช่ความคิดเห็นของคณะกรรมการส่วนใหญ่ และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ จึงขึ้นอยู่กับการตีความรัฐธรรมนูญว่าจะตีความอย่างไร

กับคำร้องของฝ่ายค้าน ที่อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณี มาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเคสของดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่ง นรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ถือครองหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด หรือไม่

ซึ่งจะขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 187 โดยศาลรัฐธรรมนูญให้นำมาตรา 187 ดังกล่าวมาบังคับใช้กับนายดอนและภรรยาด้วย แม้จะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ 

พล.ต.วิระ ชี้แจงว่า “คำร้องฝ่ายค้านอ้างแค่นี้ เราต้องดูว่าตอบอย่างไร และเราจะปฏิเสธอะไร แต่เราต้องตอบหลักข้อกฎหมาย แค่นั้นเอง”

ชัดเจนว่าการสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญ คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดตีความตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก 

โดยจะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง