ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยประจำเดือน มิ.ย.ปัจจัยส่วนใหญ่เริ่มดีขึ้นบ้างแม้จะยังติดลบอยู่ มีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐเท่านั้นที่ปรับดีขึ้นอย่างชัดเจน
มูลค่าการส่งออกของประเทศไทย ประจำเดือน มิ.ย.ติดลบสูงถึง 24.6% ซึ่งเป็นการติดลบเพิ่มจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับติดลบ 23.6%
อย่างไรก็ตาม ผอ.ศก.อาวุโส ชี้ว่า มูลค่าการส่งออกติดลบหนัก เพราะมีการคิดรวมมูลค่าการส่งออกทองคำ หากตัดสัดส่วนทองคำออกไป มูลค่าการส่องออกของไทยจะติดลบราว 18.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าเดือน พ.ค.ที่อยู่ที่ติดลบ 29.0% ทั้งนี้ ดอนย้ำว่าการติดลบในระดับนี้ก็ไม่อาจกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีได้ เพียงแค่ดีขึ้นจากจุดต่ำสุดเท่านั้น
“เทียบกับปกติย่ำแย่มาก แต่มันเคยแย่กว่าปกติ” ดอน กล่าว
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับการประเมินครั้งก่อนที่ ธปท.ชี้ว่าเศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ที่สะท้อนคำสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่ง ธปท.รวบรวมจากทั้งบริษัทฐานข้อมูล CEIC และบริษัทให้บริการทางการเงินอย่างเจพีมอร์แกน ยังไม่กลับมาในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แม้ทิศทางจะปรับดีขึ้น
กำลังซื้อภาคเอกชนยังคงหดตัวในเดือน มิ.ย.เช่นเดียวกัน ในระดับติดลบ 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ขยับขึ้นมาในแดนบวกเมื่อเทียบตัวเลขเดือน มิ.ย.กับเดือน พ.ค.จาก ติดลบ 9.5% เป็นโต 6.0% โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล
ปัจจัยบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนยังมาจากความเปราะบางในเรื่องการว่างงานที่สะท้อนผ่านตัวเลขการขอรับสิทธิว่างงานและสัดส่วนผู้ถูกเลิกจ้างต่อผู้ประกันตนตามมาตราที่ 33 ในระบบประกันสังคม ซึ่งคิดเป็น 31% ของผู้มีงานทำทั้งหมดตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ธปท.คาดว่า การฟื้นตัวของแรงงานไทยอาจต้องรอถึงปลายปี 2564
เท่านั้นยังไม่พอ ดัชนีชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตราที่ 75 ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของ ธปท.ที่มองว่า ชั่วโมงการทำงานน่าจะเริ่มกลับมาแล้ว
ดอนชี้ว่า ฝั่งอุตสาหกรรมรถยนต์ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมาก ชั่วโมงการทำงานของคนงานลดลงอย่างต่อเนื่องแม้บริษัทใหญ่หลายแห่งเริ่มกลับมาเดินเครื่องเปิดโรงงานผลิตแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าฝั่งผู้ประกอบการและโรงงานขนาดเล็กในอุตสาหกรรมดังกล่าว ยังได้รับผลกระทบอยู่มาก
ซ้ำร้าย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม แม้จะมีทิศทางดีขึ้นจากจุดที่คาดว่าจะเป็นจุดต่ำสุดมาแล้วแต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นผู้บริโภคตลอด 5 ปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่รายได้เกษตรกรแม้จะหดตัวน้อยลงแต่ก็ยังติดลบ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในทำนองเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนยังคงติดลบ 12.1% ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ติดลบ 18.2%
ขณะที่ปัจจัยบั่นทอนสำคัญจากฝั่งการท่องเที่ยวก็ยังสร้างภาระหนักให้กับเศรษฐกิจไทยเช่นเดิมในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท.ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเป็นศูนย์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
เศรษฐกิจประเทศยังพอมีความหวังแค่จากปัจจัยการใช้จ่ายของภาครัฐที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งจากรายจ่ายประจำที่บวกเพิ่ม 0.6% และรายจ่ายการลงทุนของรัฐบาลกลางที่บวกเพิ่มถึง 27.9%
โดยไม่นับรวมมาตรการช่วยเหลือประชาชนผ่านการเบิกจ่ายภายใต้ ‘พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563’ หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี รายจ่ายลงทุนฝั่งรัฐวิสาหกิจกลับมีตัวเลขที่ไม่ดีมากนัก คือหดตัวถึงติดลบ 11.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
จากสถานการณ์เศรษฐกิจในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ดอนสรุปภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ว่าน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีแล้ว โดยมีปัจจัยหลักมาจากมาตรการล็อกดาวน์และการปิดประเทศที่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหนักโดยเฉพาะในฝั่งการท่องเที่ยวรวมไปถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย