ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติแจงยิบหนี้ครัวเรือนโต สิ้นไตรมาส 3/2562 แตะ 13.2 ล้านล้านบาท เฉียดร้อยละ 80 ของจีดีพี พบ 1 ใน 3 เป็นหนี้กู้ซื้อบ้าน รองลงมากู้เพื่อการใช้จ่าย ล่าสุด เตรียมเปิดข้อมูล 'แยกตามประเภทวัตถุประสงค์' เริ่ม 31 ม.ค. นี้

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ธปท. จะเริ่มเผยแพร่ตารางข้อมูล 'เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกวัตถุประสงค์' ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากแบงก์และนอนแบงก์ ที่ปล่อยกู้ให้แก่บุคคลธรรมดา โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นการแจกแจงเพิ่มเติมตารางข้อมูลที่เผยแพร่ปัจจุบัน ที่จำแนกเพียงว่าสถาบันการเงินใดเป็นผู้ปล่อยกู้เท่านั้น

ส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 มียอดคงค้างอยู่ที่ 13.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี และเมื่อปรับปรุงผลตามฤดูกาลแล้ว (QoQ) อยู่ที่ร้อยละ 79.3 ของจีดีพี หรือ ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่วนข้อมูลชุดใหม่ที่เริ่มเผยแพร่มีความถี่เป็นรายไตรมาส และมีข้อมูลย้อนหลังไปถึงไตรมาส 1/2555 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และล่าสุด พบว่า 1 ใน 3 เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รองลงมาเป็นกู้เพื่อกินเพื่อใช้ เพื่อประกอบอาชีพ และเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในอัตราร้อยละ 20, 18 และ 13 ตามลำดับ 

ก่อนหน้านี้ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. กล่าวถึงรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2562 ว่า ไฮไลต์ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมี 4 ด้าน ได้แก่ หนี้ครัวเรือน, ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูง หรือ search for yield ที่จะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำ (under price of risk), สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่อง และการปรับตัวของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์

โดยในเรื่องหนี้ครัวเรือน พบว่า สถานการณ์ยังมีความน่ากังวล โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังปรับตัวสูงขึ้นแตะๆ ร้อยละ 80 ต่อจีดีพี และจากประมาณการก็พบว่า อัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2563 ก็จะยังไม่ลดลง ทั้งจากปัจจัยของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ชะลอตัวลง และตัวหนี้ยังขยายตัวอยู่ อีกทั้งประเทศไทยยังมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาค

โดยหนี้ครัวเรือนที่เติบโตขึ้น มาจากการเติบโตของสินเชื่อสำหรับการอุปโภคบริโภค ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรกดเงินสด และมาจากสถาบันการเงินที่เป็นแบงก์ และนอนแบงก์ด้วย หรือ อีกด้านหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า หนี้ครัวเรือนเติบโตขึ้นในฝั่งอุปทาน คือการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ที่สถาบันการเงินปล่อยออกมาแข่งขันกันในตลาด รวมถึงเติบโตจากฝั่งอุปสงค์ คือจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนเป็นการใช้จ่ายเกินตัวในบางกลุ่ม 

"จากข้อมูลที่ลงในระดับครัวเรือน ก็มีความน่ากังวลเพิ่มสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เป็นภาระหนี้จากการอุปโภคบริโภค เป็นหนี้ระยะสั้น และมีภาระในการผ่อนดอกเบี้ยค่อนข้างสูง โดยร้อยละ 42 ของภาระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือน เป็นการผ่อนชำระแก่หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นก้อนหนี้ค่อนข้างก้อนใหญ่ ซึ่งกลุ่มที่มีความเปราะบางคือคนที่มีภาระหนี้สูง มีเงินออมน้อย กลุ่มครัวเรือนเกษตรที่กระทบจากรายได้ และกลุ่มเกษียณอายุที่มีเงินออมไม่เพียงพอ" นายสักกะภพ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: