ไม่พบผลการค้นหา
คณะผู้จัดการประชุมสหประชาชาติผ่านอินเตอร์เน็ตเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตอบรับจดหมายเปิดผนึก 7 ข้อของเครือข่ายเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน 53 องค์กร 23 บุคคล พร้อมรับปากเตรียมผลักดันวาระยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ

ภายหลังจากที่เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน โพรเทคชั่นอินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) และภาคีเครือข่ายอีก 53 หลากหลายองค์กร อาทิ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะผู้จัดการประชุมสหประชาชาติผ่านอินเตอร์เน็ต เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: ปัญหาท้าทายใหม่ แนวทางการดำเนินงานใหม่ เอเชียและแปซิฟิก ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 9-12 มิถุนายนนี้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้จัดการประชุม และคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (The UN Working Group on Business and Human Rights – UNWG) มีการอภิปรายในประเด็นการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิโดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ระดับชุมชนและคนที่สนับสนุนการปกป้องสิทธิฯ ของนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมซึ่งเกิดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอจากเวทีนี้

ล่าสุดคณะผู้จัดงานฯ ได้ตอบกลับจดหมายดังกล่าวโดยระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของทางเครือข่ายและคณะผู้จัดงานได้เตรียมการพูดคุยประเด็นการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมซึ่งเกิดในประเทศไทยในเกือบทุกๆ เวทีแล้วด้วยและหลังจากนี้จะมีการนัดหารือกับเครือข่ายถึงประเด็นนี้อีกครั้ง

ทั้งนี้ภายในการประชุมได้มีการจัดพูดคุยในหัวข้อ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” โดยมี น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้เป็นวิทยากรร่วมกับ น.ส. นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมด้วย

น.ส. นรีลักษณ์ ได้นำเสนอในที่ประชุมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับแผนปฏิบัติการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาปฏิบัติ และหากเทียบกับในโลกถือว่าเป็นประเทศที่ 23 ที่รับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGP) ออกมาผลิตเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP)  ซึ่งขั้นต่อไป ในการนำแผนปฏิบัติการแห่งชาติฯ มาปฏิบัติ ทางกระทรวงฯจะจัดให้มีการพูดคุยกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและได้จัดทำเว็บไซด์เพื่อให้คนเข้ามาดูแผนปฏิบัติการและให้ความเห็นได้ นอกจากนี้แล้วในส่วนของธุรกิจ จะทำการจัดอบรมให้ภาคธุรกิจมีความตื่นตัว และทำงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และตลาดหลักทรัพย์ให้เข้าใจเรื่องนี้ และในส่วนของรัฐบาล จะทำงานให้รัฐบาลเข้าใจบทบาทของนักปกป้องสิทธิ รวมถึงจะเตรียมจัดทำงานวิจัยกับ UNDP เรื่องกฎหมายการฟ้องปิดปาก โดยจะเชิญภาคประชาสังคมเข้าร่วมให้ความเห็นด้วย

ขณะที่ น.ส. ส.รัตนมณี ระบุว่า สิ่งที่ตนได้พบก็คือแผนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยเป็นแค่หลักทางนโยบายเท่านั้น ไม่ได้มีข้อกฎหมายใดๆ รองรับ ทำให้ไม่มีผลบังคับจริง การเข้าร่วมของหลายบริษัทจึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิ่งที่ตนได้พบข้อเท็จจริง คือหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าแผนแห่งชาติฯ คืออะไร เวลาพูดคุยกับรัฐ มักบอกว่าไม่เคยได้ยินเลย ทำให้การทำงานเป็นไปได้ยากว่าการปฏิบัติแผนดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือภาคธุรกิจหลายแห่งได้นำแผนดังกล่าวนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อบอกว่าตัวเองทำความดี ส่งเสริมในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามที่วางแผนไว้ 

ส่วนในเวทีเสวนาหัวข้อ ธุรกิจจะยืนเคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือไม่  สตาฟฟาน แฮร์สตรัม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทางสวีเดนได้ทำงานกับประเทศไทยในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างยาวนาน ทั้งให้การสนับสนุนผ่าน UNDP และยินดีที่ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) แต่ได้ย้ำว่า แผนดังกล่าวนั้น ต้องมีความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ และความน่าเชื่อถือนั้น ก็จะถูกสั่นคลอน หากว่ายังมีนักปกป้องสิทธิฯ ที่คงถูกข่มขู่คุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมอยู่ ทูตสวีเดนยังได้กล่าวอ้างถึงจดหมายเปิดผนึกที่องค์กรประชาสังคมส่งให้ด้วยว่า ยังมีข้อมูลที่นักปกป้องสิทธิฯโดยเฉพาะผู้หญิง จำนวนมากยังคงถูกข่มขู่คุกคาม ด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การถูกฟ้องปิดปาก เป็นต้น

เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทย จำเป็นต้องยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ รวมถึงการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรม ลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท และให้ยกเลิกบทลงโทษทางอาญาใด ๆ กับความผิดฐานหมิ่นประมาท เรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังในการยุติกรณีการบังคับให้สูญหายอีกด้วย และเน้นย้ำว่าเราต้องปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ขณะที่นางซินเธีย เวลิโก้ ตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ถือว่ามีการใช้ความรุนแรงในการลอบสังหารต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม สูงอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากมีความต้องการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมจากนักลงทุนสูงมาก และเมื่อเกิดความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่ที่จะมีการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ มักมีการใช้ความรุนแรงจากบริษัท และนักการเมืองในท้องถิ่น ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนของตนเอง โดยมีการคุกคามในหลายรูปแบบ เช่น การข่มขู่คุกคามต่อนักปกป้องสิทธิและครอบครัว การตัดน้ำตัดไฟ ถูกระงับไม่ให้เดินทาง รวมไปถึงการจับกุม การลักพาตัว และการบังคับให้สูญหาย

นางซินเธียยังกล่าวด้วยว่า ในภูมิภาคนี้ มักมีกฎหมายที่กดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก และถูกนำมาใช้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้นักปกป้องสิทธิฯ ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม เช่น ถูกจำคุกโดยมีโทษสูงอย่างไม่ได้สัดส่วน และมีการใช้ภาษาที่ทำให้เกิดการตีตราว่านักปกป้องสิทธิฯ เป็นผู้ที่สร้างปัญหา เป็นตัวป่วน โดยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มีความเปราะบางและเสี่ยงที่จะถูกคุกคามมากที่สุด

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี 2562 กล่าวว่า ในเรื่องของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พบว่านับตั้งแต่ปี 2548 รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมแสดงท่าทีให้ความสำคัญในปัญหาที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญ อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันรัฐบาลกลับไม่มีความก้าวหน้าในทางปฏิบัติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ถูกฆ่า ถูกอุ้มหายหรือถูกทำร้ายยังคงไม่ได้รับความยุติธรรมและการเยียวยา และผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล ปัจจุบันมีนักปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิแรงงานโดยเฉพาะผู้หญิงถูกคุกคามทั้งจากหน่วยงานรัฐ และบริษัทโดยใช้กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น โดยปราศจากความใส่ใจจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ในเวทีการประชุมสหประชาชาติผ่านอินเตอร์เน็ตเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญมีความห่วงกังวลคือการคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการคุกคามทางกฎหมาย โดยการฟ้องร้องดำเนินคดีทางยุทธศาสตร์ เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) เพื่อปิดปาก หรือเพื่อกลั่นแกล้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้รัฐบาลจะให้ข้อมูลว่ามีการปรับปรุงกฎหมายบางมาตราเพื่อให้ศาลและอัยการไม่รับฟ้องคดี แต่ในความเป็นจริงการฟ้องร้องลักษณะนี้ยังไม่มีท่าทีลดลง

“หากรัฐบาลยังปล่อยให้การคุกคามทางกฎหมายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงดำเนินต่อไปก็เท่ากับว่าใครก็ตามที่มีเงิน มีอำนาจก็สามารถที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีใครต่อใครก็ได้ตามอำเภอใจ เพื่อสร้างความหวาดกลัวและสร้างภาระให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบรรดาผู้ทรงสิทธิต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่ารัฐบาลขาดความเต็มใจ (unwilling) ในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามที่ให้คำมั่นต่อองค์กรระหว่างประเทศ และแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องก็คงเป็นแค่คำมั่นในกระดาษที่ไม่ส่งผลในทางปฏิบัติ ดิฉันจึงขอเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมากกว่าการใช้คำพูดที่สวยหรูแต่ปราศจากความจริงใจ”อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี 2562กล่าว

ด้าน น.ส.ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า เรายินดีที่คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และผู้จัดงานในครั้งนี้ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาทของภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชนพื้นเมือง ในการทำงานส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเคารพต่อสิทธิมนุษยชนตามแนวทางแห่งสหประชาชาติ แม้รัฐบาลไทยมักจะกล่าวว่ามีความตั้งใจที่ดี แต่เรากลับไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในส่วนของภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิฯ ที่ยังคงเผชิญการละเมิดสิทธิ การข่มขู่ และการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมในทุกเมื่อ เชื่อว่าเราเรียกร้องให้คณะทำงานฯและหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานประเด็นนี้ร้องขอต่อรัฐบาลไทยให้เปิดเผยรายละเอียดการดำเนินงานในรายละเอียดต่อการปฏิบัติตามหลักการด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน สำหรับทุกภาคส่วน ที่สำคัญที่สุด คือเริ่มจากการยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลไทยต้องถูกเรียกร้องให้เปิดเผยเป้าหมายที่ชี้วัดได้และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.jpgคุณปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล.jpgน.ส.ซินเทีย เวลิโก ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR).jpg