ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) หรือ ดัชนี MTSI ประจำไตรมาสที่ 2/2563 อยู่ที่ระดับ 46.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับเดิม 47.2
เมื่อจำแนกออกเป็นดัชนีในปัจจุบัน และอนาคตพบว่า ผู้ประกอบการประเมินสถานการณ์การค้าในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้น จากระดับ 45.5 ในไตรมาสแรก ขึ้นมาอยู่ที่ 47.1 ขณะที่ดัชนีในปัจจุบันยังปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรก จากเดิมที่ 49.0 ลงมาเหลือ 45.7
อธิการบดี ม.หอการค้าไทย ย้ำว่า ดัชนี MTSI มีความสำคัญในการสะท้อนอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างชัดเจนเนื่องจากเป็นปัจจัยพ้องกัน หรือหมายความว่า หากดัชนีดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นเศรษฐกิจประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ วงการโมเดิร์นเทรดคิดเป็นร้อยละ 55-60 ของวงการค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งวงการค้าปลีกของไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 15-17 ของเศรษฐกิจประเทศโดยรวม
ทั้งนี้ ปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจโมเดิร์นเทรด มาจากทั้งความวิตกกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีกครั้ง รวมไปถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากเงื่อนไขในมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากแม้รัฐบาลจะคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว
ผศ.ธนวรรธน์ ย้ำว่า เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยน้อยลงจึงจำเป็นต้องกลับมากระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศด้วยกันเอง
โดยหอการค้าไทยแนะนำมาตรการเติมเงินเข้ามาในระบบโดยไม่ต้องสร้างภาระทางการคลังมากนักผ่านมาตรการทางภาษี อาทิ โครงการชิมช้อปใช้ โดยให้เพิ่มมาตรการลดหย่อนภาษีเป็น 50,000 บาท ซึ่งหอหารค้าไทยประเมินว่าจะช่วยดึงเงินเข้าระบบได้ราว 10,000-20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของจีดีพี
นอกจากนี้ ผศ.ธนวรรธน์ เสริมว่า อีกประเด็นสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐสามารถบังคับใช้ได้คือการส่งเสริมการจ้างงานรายชั่วโมงซึ่งปัจจุบันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยหากรัฐสามารถปรับกฎหมายในประเด็นดังกล่าวได้ จะช่วยลดอัตราการเลิกจ้างได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถจัดสรรชั่วโมงการทำงานได้เหมาะสมกว่า