ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ บรรเทาปัญหาหนี้สินประชาชน จ่ายเงินหมื่นเฟส 2 ให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 4 ล้านคน เดือน ม.ค. 68

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2567) เวลา 13.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567

ถึงแม้ GDP ไตรมาส 3 จะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อยู่ที่ 3% และคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ 2.6% ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่เราไม่ต้องการแค่นี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่านั้น ยังต้องเร่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ สร้างความอยู่ดีกินดีให้พี่น้องประชาชน

มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นระยะสั้น และ ระยะยาว โดยอิงกับมาตรการใหญ่ คือ ...ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ บรรเทาปัญหาหนี้สินประชาชน

เพิ่มรายได้ : การเติมเงินเข้าระบบ กระตุ้นผ่านการจับจ่ายใช้สอย

- กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ เช่น โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง การจัดงานเฟสติวัลในช่วงเทศกาลต่างๆ เป็นต้น

- มาตรการสินเชื่อ เพื่อเติมเงินทุนให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมที่ต้องการเงินทุนสำหรับปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร

- มาตรการสินเชื่อเพื่อซื้อ สร้าง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อสร้างหรือซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และในอีกมิติหนึ่ง จะเป็นกระตุ้นการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ในระยะยาว

เพิ่มรายได้ :โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านผู้สูงอายุ

- กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป

- กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนที่เคยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ด้วยแอปพลิเคชันทางรัฐ ณ วันที่ 15 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา และผ่านคุณสมบัติโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ไม่เป็นกลุ่มเป้าหมายตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ

- รับเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน

- จ่ายเงินภายในเดือน ม.ค. 68 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีน

ลดรายจ่าย : มาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้ของประชาชน

โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และประชาชนที่เริ่มมีภาระในการจ่ายหนี้

โดยจะดำเนินการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และ กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ ช่วยลดเงินงวดในการผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น และพักชำระดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลา 3 ปี

โดยในเบื้องต้น คุณสมบัติลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการประกอบด้วย

(1) ลูกหนี้สินเชื่อบ้านที่มีวงเงินรวมต่อธนาคาร ไม่เกิน 3 ล้านบาท

(2) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีวงเงินรวมต่อธนาคาร ไม่เกิน  7 - 8 แสนบาท

(3) สินเชื่อธุรกิจ SMEs บุคคลและนิติบุคคลที่มีวงเงินรวมต่อ สง. ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นลูกหนี้ที่มีโอกาสรอดและคาดว่าสามารถฟื้นตัวและกลับมาชำระหนี้ได้หลังสิ้นสุดการให้ความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทย นั่นคือ

- พิจารณาเร่งรัดมาตรการในการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Economic Structural Reform) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ (New Growth Engine) ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน

- การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ อาทิ มาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งของเขตเศรษฐกิจสำคัญในประเทศ เพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ (Trading and Logistics Hub) มาตรการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations)

- พิจารณามาตรการบูรณาการด้านเทคโนโลยีในภาคเศรษฐกิจ เพื่อต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ และมาตรการยกระดับการทำเกษตรให้สมัยผ่านเทคโนโลยีด้านเกษตร (Agri-Tech) รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยเศรษฐกิจมีความพร้อมและมีทรัพยากรในการขับเคลื่อนเป้าหมายระยะยาวให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน