ไม่พบผลการค้นหา
อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ NBC แจง 'ฉาย บุนนาค' เข้าใจคลาดเคลื่อน ยันไม่เคยกู้เงิน 1.4 พันล้านบาทเพื่อนำไปประมูลใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เนชั่นบรอดแคสติ้ง คอปอร์เรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ NBC ชี้แจงสถานการณ์และข้อมูลของบริษัท ภายหลังจากข้อเขียนเรื่อง 'เกียรติศักดิ์ศรี' และ 'ความอยู่รอด ของ 'เนชั่นทีวี' ซึ่งเขียนโดย ฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร คนปัจจุบัน เผยแพร่ออกไป 

เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊ก Adisak Limparungpatanakij ดังนี้  

ขอเรียนข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนจากข้อเขียนชิ้นนี้ เพื่อทำให้สาธารณชนและผู้ถือหุ้นของ NBC เข้าใจข้อมูลอย่างถูกต้อง ในฐานะที่ผมเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริษัท เนชั่นบรอดแคสติ้ง คอปอร์เรชั่น จำกัด(มหาชน)ระหว่างปี 2550- เดือนพ.ค.2560 ดังนี้

1.เมื่อปี 2556 NBC ไม่เคยกู้เงินจากสถาบันการเงินจำนวน 1.4 พันล้านบาทเพื่อนำไปประมูลใบอนุญาติช่องทีวีดิจิทัล

2.เมื่อเดือนก.ค.ปี 2556 NBC ได้ออกหุ้นสามัญขายเพิ่มทุนในวงเงิน 1,061.22 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการประมูลใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล

3.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 NBC ชนะการประมูลใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัลประเภทข่าวในราคา 1,338 ล้านบาท แต่กสทช.ไม่ได้ให้ชำระเงินทั้งหมดทันที ทำให้ NBC นำเงินจากการเพิ่มทุนบางส่วนไปชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก ทำให้ NBC ยังเหลือ"เงินสด"ในงบการเงินมาโดยตลอด

4.ตัวเลขขาดทุนของ NBC เริ่มขึ้นในช่วงปี 2558 จากภาระค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านบาทต่อเดือน แต่ในปี 2560 ผู้สอบบัญชีได้ขอให้ NBC ตั้งสำรองบัญชีด้อยค่าใบอนุญาตที่เป็นผลมาจากการขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปี ทำให้ตัวเลขขาดทุนทางบัญชีของ NBC สูงมาก

5.แต่เมื่อ กสทช.ให้คืนใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล 7 ช่องและช่วยเหลือค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่าย ทำให้ NBC สามารถ Reverse ตัวเลขการตั้งบัญชีด้อยค่าใบอนุญาติกลับมาเป็นกำไรทันที

จึงเรียนข้อเท็จจริงให้ทุกท่าน

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริษัท NBC (ปี 2560- พ.ค. ปี 2560 )

ทั้งนี้ ข้อเขียนเรื่อง 'เกียรติศักดิ์ศรี' และ 'ความอยู่รอด ของ 'เนชั่นทีวี' โดย ฉาย บุนนาค ตอนหนึ่งระบุว่า

"ผมในฐานะของ “ประธานกรรมการบริหาร” ขอยืนยันอีกครั้งต่อพี่น้องประชาชน… พนักงาน… และผู้ถือหุ้นว่า แม้จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) ภายหลังจากที่เพิ่งกู้เงินจำนวน 1.4 พันล้านมาประมูลคลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิทัลเมื่อปี พ.ศ.2556

จนเป็นเหตุส่งผลให้ทีวีดิจิทัล ทุกรายประสบภาวะถดถอยทางธุรกิจ

แต่เราก็ไม่เคยย่อท้อ… โอดครวญต่อการเปลี่ยนแปลง… หรือต่อโชคชะตา ดินฟ้าใดๆ"