รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 ว่าครม.เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี (Asian Development Bank) และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในนามรัฐบาลไทยจากเอดีบี วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่ากับ 48,000 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนของหนี้รัฐบาลที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 2.46% ซึ่งไม่เกิน 10% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค. 2563) โดยกระทรวงการคลังระบุว่าหนี้สกุลเงินต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ และสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ โดยสัญญาเงินกู้ฯ ฉบับดังกล่าว จะมีกำหนดลงนามกับเอดีบีภายในเดือน ส.ค. นี้
สำหรับความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังคาดว่า ในระยะต่อไปสภาวะตลาดการเงินภายในประเทศจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น และภาคเอกชนในประเทศจะมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 และรัฐบาลยังคงต้องใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศและต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงการคลังจึงเห็นควรกระจายการกู้เงินไปยังแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ
สำหรับสาระสำคัญของร่างสัญญาเงินกู้ฯ มีดังนี้
1.ผู้กู้คือกระทรวงการคลัง ผู้ให้กู้คือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)
2.วงเงินกู้รวม 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 48,000 ล้านบาท คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
3.ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน (LIBOR) ระยะเวลา 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่าง 0.50% ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน คือ วันที่ 15 ก.พ. และวันที่ 15 ส.ค. ของทุกปีตลอดอายุสัญญา (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย LIBOR อยู่ที่ 0.32%)
4.มีค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ 0.15% ต่อปี ภายหลัง 60 วันนับจากวันที่ลงนามในสัญญาเงินกู้ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย โดยชำระค่าธรรมเนียมพร้อมกับการชำระดอกเบี้ย
5.การชำระคืนต้นเงินกู้ แบ่งเป็น 2 วงเงินดังนี้
6.ระยะเวลาสิ้นสุดการเบิกจ่ายเงินกู้ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2564
7.เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อใช้ในโครงการแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยไม่เป็นโครงการแผนงานที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการของเอดีบี
นอกจากนี้ รัชดา ยังกล่าวว่า เหตุที่มีการกู้เงินสกุลต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับต่ำ ดอกเบี้ยไม่สูง และกระทรวงการคลังระบุว่าสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนสภาพคล่องในประเทศต้องเตรียมไว้ให้กับผู้กู้ยืมในประเทศ
เอดีบีหนุนไทยสู้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ คาดเติบโตติดลบ 6.5%
มาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี กล่าวว่าเอดีบี มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศไทยอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยลดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และการคลังของประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดใหญ่ การสนับสนุนของเราจะช่วยในการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบต่างๆ ของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นเพื่อเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลสุขภาพของประเทศหากการมีระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นในอนาคต ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สนับสนุนรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดในครั้งนี้ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการผลิต และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม
เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการดูแลสุขภาพก้าวหน้าอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดใหญ่เนื่องจากมีความเชื่อมโยงทางภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกในเชิงลึก แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโควิด-19 หากมีการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลสุขภาพโดยรวม และทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือแพทย์ที่มีอย่างจำกัด
เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 6.5% ในปี 2563 ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ติดลบ 3% เมื่อเดือน ธ.ค. 2562 เนื่องจากการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงของแรงงานในระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งของประเทศทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม ได้
สำหรับการลงนามสัญญาเงินกู้ โดยผู้แทนจากเอดีบีและกระทรวงการคลัง คาดว่าจะมีขึ้นภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้ ณ กรุงเทพมหานคร โดยแผนงาน COVID-19 Active Response and Expenditure Support (CARES) ของเอดีบี จะสามารถเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็วเพื่อสนับสนุนงบประมาณให้กับรัฐบาลเพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งช่วยฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจ และยังเป็นรากฐานให้เอดีบีสามารถกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานกับภาคเอกชนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนผ่านแผนการฟื้นฟูต่างๆ ของรัฐบาลหลังการระบาดคลี่คลาย เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การค้า และการสนับสนุนทางการเงินแก่ห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น
นอกจากนี้ เอดีบี จะสนับสนุนกรอบการพูดคุยแลกเปลี่ยนด้านนโยบายอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลเกี่ยวกับรับมือการระบาดใหญ่และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แผนงาน CARES ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่าน COVID-19 pandemic response option (CPRO) ภายใต้กองทุน Countercyclical Support Facility ของเอดีบี CPRO เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของเอดีบี ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา ให้กับประเทศสมาชิกในการรับมือกับโควิด-19
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่ารวม 2.25 ล้านล้านบาท (ประมาณ 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ประกอบด้วย โครงการให้เงินช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ 16 ล้านคน และเกษตรกร 10 ล้านครัวเรือน เป็นจำนวนเงินประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท การสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และการเสริมสร้างระบบการดูแลสุขภาพให้แข็งแกร่ง นอกจากนั้น SMEs ในภาคการท่องเที่ยว และภาคอื่นๆ ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงสินเชื่อและการพักชำระหนี้จากธนาคารกลาง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้วางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโคงิด-19
โดยเอดีบีประมาณการว่าแผนฟื้นฟูด้านการคลังดังกล่าวจะสามารถเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจได้ 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อีกทั้งเอดีบีกำลังเตรียมแผนยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศกับประเทศไทยฉบับใหม่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและโครงการที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเน้นการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านคณะทำงานอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว การค้า การขนส่ง และสุขภาพ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :