ไม่พบผลการค้นหา
นาซาตำหนิโครงการทำลายดาวเทียมของอินเดีย เพราะเพิ่มความเสี่ยงทำให้สถานีอวกาศนานาชาติชนเศษดาวเทียมมากขึ้น

จิม ไบรเดนสไตน์ ผู้บริหารองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา กล่าวว่า โครงการทำลายดาวเทียมของอินเดียเป็นสิ่งที่ย่ำแย่มาก เนื่องจากทำให้เกิดขยะอวกาศบริเวณจุดไกลสุดจากโลกจนไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS และภารกิจลักษณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นในการบินอวกาศในอนาคต

อินเดียเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่ทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียมหรือ ASAT ตามหลังสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน โดยเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ประกาศว่า ภารกิจชาติ การทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียมจะทำให้อินเดียขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ

ก่อนหน้านี้ ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่าการทดสอบของอินเดียจะสร้างขยะอวกาศ แต่ทางการอินเดียยืนยันว่า การทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียมเกิดขึ้นในวงโคจรชั้นในของโลก ที่ความสูง 300 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ขยะอวกาศใดๆ ที่เกิดขึ้นจะย่อยสลายและตกลงมาสู่พื้นโลกภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ จะไม่สร้างขยะอวกาศที่จะไปชนกับ ISS ได้

ไบรเดนสไตน์ กล่าวว่า สิ่งที่อินเดียแถลงเป็นเรื่องจริง ถือเป็นเรื่องดีที่การทดสอบอยู่ในวงโคจรชั้นในของโลก ขยะอวกาศเหล่านี้ค่อยๆ หายไป แต่โครงการของอินเดียได้เพิ่มความเสี่ยงที่เศษซากดาวเทียมจะกระจัดกระจายมาชน ISS ถึงร้อยละ 44 ในช่วง 10 วันของการทดสอบการทำลายดาวเทียม

นาซาพบว่ามีขยะอวกาศอยู่ในวงโคจรกว่า 400 ชิ้น มี 60 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 10 เซนติเมตร ในจำนวนนี้ มี 24 ชิ้นที่เสี่ยงอันตรายกับ ISS อย่างไรก็ตาม ไบรเดนสไตน์ยืนยันว่า ISS ยังคงปลอดภัย ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ

ก่อนหน้านี้ จีนก็เคยถูกเตือนจากการทดสอบลักษณะนี้เมื่อปี 2007 โดยนาซาระบุว่า ขยะอวกาศจำนวนมากเกิดขึ้นจากการทดสอบครั้งนั้น กองทัพสหรัฐฯ ตรวจสอบพบว่า 1 ใน 3 ของขยะอวกาศราว 10,000 ชิ้นมาจากการทดสอบของจีน

ด้านนักเคลื่อนไหวด้านการควบคุมอาวุธได้แสดงความกังวลต่อศักยภาพในการสู้รบในอวกาศที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยี ASAT จะทำให้อินเดียสามารถทำลายดาวเทียมของศัตรูได้ และอาจยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันอินเดียและจีน เพื่อเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย

ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านในอินเดียก็ออกมากล่าวหาว่า การทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียมเป็นเพื่อกลยุทธ์ทางการเมืองของโมดิ ก่อนที่อินเดียจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 11 เม.ย.นี้

ที่มา: BBC, CNN