วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือแก้ไขในรายมาตราจะสำเร็จได้นั้น ต้องมีเสียง ส.ว.โหวตเห็นชอบไม่น้อยกว่า 84 เสียงหรือ 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด ดังนั้น การรวบรวมเสียง ส.ว.ให้ได้ 84 เสียงจึงเป็นจัยจัยสำคัญที่จะชี้ขาดต่อสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ขอบอกว่ากลุ่ม 84 ส.ว.กำลังโตวันโตคืน ตอนนี้ในบรรดากลุ่ม ส.ว.มีการปรึกษาหารือกันหลายกลุ่ม หลายที่หลายแห่งอย่างเข้มข้น ทั้งกลุ่มจังหวัด กลุ่มพื้นที่ กลุ่มอดีตที่เคยทำงานร่วมกัน อดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจ อดีต ส.ว.สารพัดกลุ่ม ระดมทั้งความคิดทั้งความเป็นเอกภาพในการที่จะลงคะแนน เห็นได้ว่ากลุ่มที่สงวนท่าทีก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีกันมากขึ้น ไปรวมทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนกลายเป็นความเติบโตของกลุ่ม 84 ส.ว.ส่วนกลุ่มอื่นจะมากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่กลุ่ม 84 ส.ว.จะเป็นตัวชี้ขาดต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วันชัย กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่กลุ่มนี้นำมาพูดคุยหารือกันอย่างมากก็คือ การให้แก้รัฐธรรมนูญกับการไม่แก้รัฐธรรมนูญอะไรจะดีกว่ากัน ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือ ถ้าไม่ยอมให้แก้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะมีปัญหา ทั้งภายในรัฐบาลเองและภายนอกรัฐบาล อาจถึงขั้นว่ารัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้ และที่สำคัญก็คือความสงบเรียบร้อยของประเทศ ถ้าไม่ยอมให้แก้ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย กระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม ทั้งสภาพแวดล้อมปัจจัยต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง หากแข็งขืนต่อไปมีแต่ความเสียหายมากกว่า ข้อสรุปนี้ตกผลึก กำลังขยายในบรรดา ส.ว.กลุ่มต่างๆ และเห็นตรงกันว่าจะต้องร่วมกันผลักดันหาแนวร่วมช่วยกันแก้ปัญหาให้กับประเทศ เอาส่วนรวมเป็นตัวตั้ง
วันชัย ย้ำว่า ตนยืนหยัดมาตั้งแต่ต้นว่าสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งมี ส.ส.ร.หรือแก้รายมาตราไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตเท่านั้นว่า รายมาตราบางเรื่อง ส.ส.ควรจะตกผลึกให้เป็นเอกภาพเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะเสียแนวร่วมในการลงคะแนนไปเปล่า ถ้า ส.ส.ยังรวมกันไม่ได้ในบางรายมาตราก็เกรงว่าจะตกม้าตายไปเสียก่อนก็เท่านั้น
"แต่สิ่งหนึ่งที่ผมวิตกว่าวันที่ 24 ก.ย.นี้จะได้มีการโหวตเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเปล่า จะมีอุบัติเหตุในสภาหรือนอกสภาหรือไม่ จนถึงขั้นไม่ได้โหวตกันหรือเปล่า ก็ยังหวั่นวิตกอยู่" วันชัย กล่าวทิ้งท้าย