ไม่พบผลการค้นหา
รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ชี้การกำหนดมาตรฐานของปลาร้า จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น และช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น

ภายหลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การกำหนดมาตรฐานทั่วไปของปลาร้า เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ค้ารายย่อยและผู้ค้าปลาร้าท้องถิ่น เพราะเกรงว่าการกำหนดมาตรฐานอาจทำให้ปลาร้าสูญเสียอัตลักษณ์ของสูตรแต่ละท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีการผลิตปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์สูงถึง 4 หมื่นตันต่อปี รายได้รวม 800 ล้านบาททั้งส่งออกตลาดกลุ่มอาเซียนและยุโรป มีมูลค่าหลายสิบล้านบาท และยังขยายตัวต่อเนื่อง ที่ผ่านมาไม่มีเกณฑ์กำหนดคุณภาพที่ยอมรับได้สำหรับใช้อ้างอิงการซื้อขายปลาร้า และอัตราส่วน ระยะเวลาการหมักที่เหมาะสมเพื่อให้ได้กลิ่นรสที่มีลักษณะเฉพาะของปลาร้าก่อนบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการปนเปื้อนได้ 

โดย มกอช. กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง 'ปลาร้า' ขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตปลาร้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล เป็นเครื่องมืออ้างอิงในการค้าทั้งในประเทศและการส่งออก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศส่งผลต่อการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ปลาร้าของไทยให้เติบโตขึ้นต่อไป

สำหรับข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพ ได้แก่ ลักษณะทั่วไป สี กลิ่น และรสชาติ ทั้งยังกำหนดปริมาณเกลือ หรือโซเดียมคลอไรด์ ในปลาร้า ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคได้

นอกจากนั้น ต้องไม่พบตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ด และตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับ และต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน ทราย กรวด รวมถึงแมลง มอด ชิ้นส่วนของแมลง ขนสัตว์ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ด้วยขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดเกี่ยวกับวัตถุเจือปนอาหารในปลาร้า เช่น ห้ามใช้สีและวัตถุกันเสียทุกชนิด ข้อกำหนดสารปนเปื้อน อาทิ ปริมาณสูงสุดของสารตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สารหนูในรูปอนินทรีย์ ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารปรอท ต่ำกว่า 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ด้านสุขลักษณะ ปริมาณจุลินทรีย์ ภาชนะบรรจุ การบรรจุ การแสดงฉลากทั้งร้านขายปลีกและขายส่งที่ต้องระบุชนิดปลา ส่วนประกอบ ชนิดของวัตถุเจือปน วันเดือนปีที่ผลิต-หมดอายุ ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติให้ออกประกาศกำหนด มาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า มาตรฐานเลขที่ มกษ.7023-2561 ไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป ใช้โดยสมัครใจ เพื่อส่งเสริมพัฒนายกระดับสินค้าปลาร้า ให้มีคุณภาพมาตรฐาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: