ไม่พบผลการค้นหา
World Economic Forum ระบุว่า ระบบประกันสุขภาพของไทยประสบความสำเร็จ หลายประเทศต้องการนำรูปแบบของไทยไปใช้

World Economic Forum (WEF) เผยแพร่คลิปวิดีโอประเด็นเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชากรทั่วโลก โดยยกตัวอย่างว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้นประสบความสำเร็จ และมีหลายประเทศต้องการนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้

WEF ระบุว่า ก่อนปี พ.ศ.2544 ค่าใช้จ่าย 1 ใน 5 ของครัวเรือนในไทยต่างถูกนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความยากจน และในปี 2543 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 17,000 คนเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ ขณะที่ 1 ใน 4 ของประชากรไทยไม่มีประกันสุขภาพ

ในปี พ.ศ.2544 ประเทศไทยเริ่มดำเนินนโยบายระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน ทั้งนี้เพียงแค่ 2-3 ปีที่ไทยนำระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประเทศก็เปลี่ยนไป ประชากรไทย 98 เปอร์เซ็นต์ต่างเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียมกัน

ก่อนหน้านี้ประชาชนต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ปัจจุบันรัฐบาลใช้รายได้จากภาษีเป็นแหล่งเงินทุนให้กับโรงพยาบาลและนำไปจ่ายให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำให้ประชาชนหมดความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่จะนำไปสู่ความยากจน

แต่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของการรอคิวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่หนาแน่นขึ้น และความยากในการเข้าถึงการรักษาของประชาชนในเขตชนบทที่ห่างไกลก็ยังคงมีอยู่ 

อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง รัฐบาลไม่ต้องเผชิญหน้าในเรื่องความยากจนและอัตราการตายของเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของครอบครัวอีกต่อไป 

นอกจากนี้ WEF ยังระบุว่า หลายประเทศนำรูปแบบระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยไปศึกษา เช่น เคนย่าเป็นหนึ่งในประเทศที่นำรูปนี้ไปปรับใช้ โดยมีเป้าหมายจะสามารถใช้ระบบประกันสุขภาพฯ ภายในปี 2022

รายงานของ WHO ระบุว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกกว่า 400 ล้านคน ยังขาดการเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ขณะที่การจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความยากจน

ทางด้านรายงานของThe Lancet ระบุว่า ประชากรในประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลางจำนวน 5.7 ล้านคนต่างเสียชีวิตจากระบบการรักษาสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน และประชากรกว่า 2.9 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากการไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรืออีกชื่อคือ '30 บาทรักษาทุกโรค' เกิดจากแนวคิดของกลุ่มคนที่คลุกคลีในแวดวงการแพทย์ที่พบว่าความเจ็บป่วยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนไหนของประเทศ ที่รัฐควรปฏิรูประบบบริการของสาธารณสุข เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการรักษาความเจ็บป่วย 

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2544 โดยมีคีย์แมนสำคัญคือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายที่ถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และสามารถจับต้องได้ทุกชนชั้น