ไม่พบผลการค้นหา
ภายหลังจากสอบปากคำชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่บนเรือประมงเก่าเกยตื้นที่เกาะราวี จ.สตูล เมื่อ วันที่ 11 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าไต้ก๋งชาวไทยและลูกเรือชาวเมียนมา รวม 6 ราย เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ามนุษย์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงคำกล่าวของพลตำรวจตรี ศุภวัฒน์ ทับเคลียว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล วันนี้ (13 มิ.ย.) กรณีพบชาวโรฮิงญา 65 ราย เป็นชาย 29 ราย หญิง 31 ราย และเด็กอีก 4 ราย ในเรือประมงเก่าซึ่งเกยตื้นที่เกาะราวี อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา

จากการสอบปากคำพบว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้จะไปยังปลายทางที่ประเทศมาเลเซีย แต่เครื่องยนต์เรือขัดข้องก่อนจะไปถึงที่หมาย ทำให้เรือถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งที่เกาะราวี และตำรวจได้ตั้งข้อหาเบื้องต้นแก่ไต้ก๋งชาวไทยและลูกเรือชาวเมียนมาอีก 5 ราย ได้แก่ ช่วยเหลือผู้อพยพลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม พลตำรวจตรีศุภวัฒน์ระบุด้วยว่า พบหลักฐานบ่งชี้ว่าไต้ก๋งและลูกเรือทั้งหมดพัวพันการค้ามนุษย์จริง แต่เจ้าพนักงานจะต้องสอบปากคำชาวโรฮิงญาเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่าชาวโรฮิงญาแต่ละคนถูกล่อลวงหรือว่าสมัครใจมา โดยขณะนี้ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Reuters-ชาวโรฮิงญานั่งเรือเกยตื้นที่เกาะราวี อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล-ขบวนการค้ามนุษย์-ผู้ต้องกัก

ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียพบศพผู้อพยพชาวโรฮิงญาถูกฝังอยู่ในเขตป่าตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การสอบสวนขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติในแถบประเทศเอเชีย และพบว่ามีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในประเทศไทยเกี่ยวพันกับขบวนการนี้ด้วย ทำให้หลายประเทศประกาศเป้าหมายที่จะกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกเก็บเงินค่านายหน้าราคาแพงเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเดินทางไปต่างประเทศ แต่เส้นทางที่ใช้จะเป็นการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือการล่องเรือเก่าที่ไม่อาจต้านทานลมพายุหรือคลื่นลมแรงได้ เมื่อเรืออับปาง ทำให้ผู้อยู่บนเรือจมน้ำเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หรือบางกรณีที่เรือขัดข้องและลอยอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน ทำให้เสบียงบนเรือหมด และมีผู้ที่ล้มป่วยเสียชีวิต

ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่อพยพออกจากเมียนมาซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด เนื่องจากรัฐบาลของเมียนมาไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองของประเทศตน แต่มองว่าเป็นผู้อพยพมาจากบังกลาเทศ แม้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากจะตั้งรกรากอยู่ในเมียนมานานหลายอายุคนแล้ว แต่ก็ไม่มีการรับรองสัญชาติหรือสถานะพลเมือง โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาที่อยู่ในรัฐยะไข่ เมิื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากตัดสินใจอพยพออกนอกประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: