เหตุการณ์ที่โดรนไม่ทราบฝ่ายโจมตีโรงกลั่นน้ำมันและแหล่งน้ำมันดิบใน 'ซาอุดีอาระเบีย' จนเสียหายรุนแรงเมื่อเดือนกันยายน 2562 รวมถึงกรณี 'อิหร่าน' ยึดเรือบรรทุกสินค้าและน้ำมันบริเวณช่องแคบฮอร์มุซเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ทำให้ราคาน้ำมันดิบผันผวนอยู่ช่วงหนึ่ง นักวิเคราะห์บางส่วนจึงเกรงว่า อาจจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
กรณีของประเทศไทย รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ยืนยันว่า ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนประเทศสมาชิก 'โอเปก' ผู้ผลิตและค้าน้ำมัน ก็ยืนยันว่าจัดเตรียมมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านน้ำมันไว้แล้ว ยิ่งถ้าเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ยังไม่ถือเป็นวิกฤตร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม การหาแนวทางป้องกันรับมือล่วงหน้าก็ยังถือว่า 'จำเป็น' แม้ไทยจะเคยผ่านวิกฤกตน้ำมันมาแล้วถึง 3 ครั้ง 3 ครา แต่คนรุ่นเก่าอาจลืมไปแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน
ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า วิกฤตน้ำมันที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ครั้ง ได้แก่ ปี 2516-2524, ปี 2533 และปี 2548-2553 แต่วิกฤตน้ำมันครั้งแรกที่เริ่มออกอาการในปี 2516 ถือว่ากินเวลายาวนานที่สุด รวม 8 ปี
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ถูกพูดถึงในงานวิจัยของกระทรวงแรงงานไทย มองว่ามีหลายปัจจัยผสมกัน แต่จุดเริ่มต้นเกิดจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี 'ริชาร์ด นิกสัน' ประกาศค่าเงินลอยตัวเมื่อปี 2514 ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ออกนโยบายค่าเงินตามรอยสหรัฐฯ กันอีกหลายประเทศ
หลังจากนั้นในปี 2516 เกิดสงครามระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับและอิสราเอล ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นประมาณ 4 เท่าตัว และประเทศผู้ผลิตน้ำมันประกาศลดการผลิตการจำหน่ายในประเทศ เมื่อผนวกกับการประกาศค่าเงินลอยตัวก่อนหน้า ทำให้ไทยต้องปรับตามด้วยการประกาศลดค่าเงินบาท จนเงินเฟ้อสูงขึ้นประมาณร้อยละ 24 ช่วงปลายปี
ในยุคนี้เองที่เพลง 'น้ำมันแพง' ถูกแต่งขึ้นในวงการลูกทุ่งไทย และกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยผู้แต่งคือ 'สรวง สันติ' นักร้อง-นักดนตรี และนักแต่งเพลงชาวสุโขทัย
เนื้อหาของเพลงตอนหนึ่ง พูดถึงวิถี 'ชาวนาชาวไร่' ซึ่งอยู่ห่างไกลจาก 'บางกอก' ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องอาศัยแสงสว่างจากตะเกียง แต่เมื่อน้ำมันที่ใช้จุดตะเกียงมีราคาแพงถึงขั้นขาดแคลน เป็นเหตุให้คนในชนบทต้อง 'ดับไฟ' เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง โดยเนื้อเพลงที่ติดหูคนวัย 40-50 ปีขึ้นไปคงจะหนีไม่พ้นท่อนฮุกที่ว่า "น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ขวัญใจไม่ต้องระแวง ถ้าพี่ก้าวก่ายล่วงเกิน เชิญให้น้องจงแช่ง ความรักรุนแรง น้ำมันแพง เลยดับไฟคุยกัน"
เพลงนี้เป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับ 'สรวง สันติ' ทั้งยังถูกพูดถึงในฐานะ 'เพลงบันทึกประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย' แม้จะมีเนื้อหาเสียดสีประชดประชันอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าสะท้อนภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคดังกล่าว และภายหลังมีนักร้องลูกทุ่งนำกลับมาร้องใหม่อีกหลายราย
หลังจากไทยประสบวิกฤตน้ำมันได้ไม่นาน มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงานออกมา แต่ก็เป็นเพียงการ 'ขอความร่วมมือ' และไม่มีการติดตามเรื่อง จึงไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ นักศึกษาในกรุงเทพฯ ราว 300 คนได้ร่วมกันจัดกิจกรรม 'ปั่นจักรยาน' รณรงค์ประหยัดน้ำมันช่วงเดือนมิถุนายน 2516 เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ซึ่งการทำกิจกรรมทางสังคมของนักศึกษาได้ยกระดับเป็นการประท้วงอื่นๆ ในภายหลัง เช่น การต่อต้านสินค้าจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เพราะทั้งสองประเทศถูกมองเป็น 'จักรวรรดินิยม' ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากประเทศที่เล็กกว่าอย่างไทย พร้อมทั้งรณรงค์ให้คนในประเทศหันมาใช้สินค้าไทยเพื่อช่วยเศรษฐกิจไทย
ต่อมาในปี 2517 รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ไม่พอใจและต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้น เพราะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและตกงาน กลุ่มแรงงานและผู้นำชาวนาชาวไร่ทั่วประเทศจึงรวมตัวเคลื่อนไหว-หยุดงานประท้วง เพื่อเรียกร้องมาตรการที่เป็นธรรม รวมถึงต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองและเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลยุคนั้นตอบโต้ด้วยการจับกุม ปราบปราม ทั้งยังมีผู้ต่อต้านรัฐบาลถูกสังหารและหายตัวไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีการปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ในเดือนสิงหาคม 2518 โดยนักเรียนอาชีวศึกษาที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ทั้งยังมีการขว้างระเบิดขวดและยิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากที่มีการปักหลักชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมและให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้นำชาวนา 9 คนที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ แต่ตำรวจหลายสิบนายที่ตรึงกำลังด้านนอกมหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับกลุ่มนักเรียนอาชีวะ
เมื่อถึงปี 2519 สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองยังไม่ดีขึ้น ช่วงเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรประหยัดน้ำมันออกมาหลายด้าน แต่นโยบายหนึ่งที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจ คือ คำสั่งขอความร่วมมือสถานบันเทิงและอาบอบนวดปิดให้บริการก่อนเวลา เพราะธุรกิจเหล่านี้ต้องใช้พลังงานมากกว่าธุรกิจอื่นๆ
รอยเตอร์สรายงานว่า ธุรกิจสถานบันเทิงยามกลางคืนในกรุงเทพฯ รวมถึงสถานประกอบการอาบอบนวด คือ แหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และเป็นกิจการที่ว่าจ้างพนักงานในตำแหน่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก การสั่งปิดบริการก่อนเวลาย่อมส่งผลกระทบอย่างไม่มีทางเลี่ยง และผู้ประกอบการหลายรายให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์สในครั้งนั้นว่าจะคัดค้านมาตรการดังกล่าวอย่างแน่นอน
หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 มีการใช้กำลังอาวุธปิดล้อมและสังหารผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกมองว่าล้มเหลว ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ 'พลเรือเอกสงัด ชลออยู่' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ จึงร่วมกันก่อรัฐประหารยึดอำนาจ
วิกฤตน้ำมันครั้งแรก ของไทยเกิดขึ้นช่วงที่บังคับใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 2-3 (พ.ศ.2510-2514 และ พ.ศ.2515-2519) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการกระจายผลการพัฒนา ผลผลิตการเกษตร และอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพ และมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออก ทำให้อัตราการเจริญเติบโตในภาคเกษตรอยู่ที่ร้อยละ 5.05 แต่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตถึงร้อยละ 7.17 และภาคบริการ ร้อยละ 6.21 ซึ่งล้วนต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าเพื่อการผลิตและขนส่ง
ส่วน วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 เมื่อปี 2533 เป็นผลกระทบจากสงครามอ่าวในตะวันออกกลาง ซึ่งอิรักบุกเข้ายึดคูเวต ทำให้กองทัพ 34 ประเทศ นำโดยสหรัฐฯ เคลื่อนกำลังทหารบุกแทรกแซงและช่วยเหลือคูเวต แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ถึงปี เริ่มจาก 2 สิงหาคม 2533 – 28 กุมภาพันธ์ 2534
อย่างไรก็ดี สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า วิกฤตทั้งสองครั้งทำให้รัฐบาลมองเห็นความจำเป็นเรื่องการจัดการความต้องการพลังงานเชื้อเพลิงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากเดิมที่เคยมุ่งเน้นแต่การ 'จัดหา' พลังงานเพียงด้านเดียว นำไปสู่การจัดทำแผนงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในปี 2534 และการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535
จุดเปลี่ยนด้านนโยบายพลังงานอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นหลัง วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2548-2553 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 'ต้มยำกุ้ง' ในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย เชื่อมต่อกับวิกฤตการเงิน 'แฮมเบอร์เกอร์' ในสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงราคาน้ำมันที่ผันผวน ทำให้กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายและผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อลดการนำเข้าพลังงานระยะยาว และมุ่งเน้นพลังงานทางเลือก รวมถึงส่งเสริมแผนอนุรักษ์พลังงานระยะยาว 20 ปี แทน
ส่วนนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 ซึ่งแถลงต่อรัฐสภาเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าจะเน้นการกระจายชนิดของเชื้อเพลิง ทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทน สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และอาจจะปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี 2018) ใหม่ เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่องพลังงานทดแทน
อ่านเพิ่มเติม: