ไม่พบผลการค้นหา
คมนาคม เตรียมแก้กฎหมายให้เอกชนร่วมเดินรถไฟ ให้สัมปทาน 99 ปี ไม่หวั่นเอื้อประโยชน์เอกชน หากมีการกำกับดูแลที่ดี ชี้ต้องดูว่าประชาชนจะได้อะไร

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการระบบราง ว่า กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมเดินรถในโครงข่ายของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เนื่องจากตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยระบบรางให้เป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีการขนส่งทางราง 10.5 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟเพียง 30% เท่านั้น ขณะที่ในอนาคตรัฐบาลมีแผนพัฒนาการขนส่งทางรางเพื่อให้มีการใช้โครงข่ายทางรางอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดการเชื่อมต่อทางรางระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นด้วย

โดยแนวคิดเบื้องต้นต้องการให้ภาคเอกชนเข้าร่วมเดินรถในสล็อตที่การรถไฟฯ ยังไม่ได้มีการบริการ ทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งมีหลายรูป เช่น ให้เอกชนจัดหารถแล้วนำวิ่งให้บริการโดยต้องจ่ายเช่ารางให้กับการรถไฟฯ หรืออาจเป็นรูปแบบเช่าเดินรถคล้ายกับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปรับปรุงขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

อย่างไรตามการจะเปิดให้เอกชนเข้ามา จำเป็นที่จะต้องจูงใจ โดยเฉพาะอายุสัมปทานต้องกล้าที่จะให้สัมปทานแก่เอกชนแบบระยะยาวมากกว่า 30 ปี เพราะท้ายที่สุดเมื่อหมดอายุสัมปทานก็มีการต่อสัญญาให้เอกชนเพิ่มเติมอยู่ดี ดังนั้นเสนอว่าควรเปิดให้เอกชนลงทุนเข้ามาลงทุนยาวเป็น 99 ปี เหมือนกับในหลายประเทศ ซึ่งไม่ได้มองว่าทุกอย่างคือการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชน แต่ต้องดูว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไรด้วย เพราะถ้าถามว่าทำไมไม่มีเอกชนมาลงทุนในประเทศเรา เราต้องถามตัวเองด้วยว่าเรามีอะไรจูงใจ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอยู่แล้วเพื่อให้เกิดการพัฒนามากขึ้น

"ผมมองประเทศเพื่อนบ้านเขากล้าออกระยะเวลาและให้สัมปทานในการประกอบการ ถ้าไม่กล้าทำลายข้อจำกัด และห่วงแต่การเอื้อประโยชน์ก็เป็นเรื่องยาก เพราะมองว่าเรื่องเวลาไม่ใช่ปัญหา ถ้าเรามีการเขียนว่าจะกำกับดูแลอย่างไร" ศักดิ์สยาม กล่าว

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยัน ว่าจากการพูดคุยกับเอกอัครราชทูตในหลานประเทศ แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ทั้ง รัสเซีย สาธารณรัฐเช็ก เกาหลีใต้ รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยเบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่าการให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการระบบราง จะต้องสามารถขับเคลื่อนได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรมรางแล้วเสร็จ เนื่องจากมี พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว