ไม่พบผลการค้นหา
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย กลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ว่าเป็นการกระทำอัน "ดูหมิ่น" ต่อมโนธรรมสำนึกร่วมของโลกทั้งใบ หลังจากสงครามเดินหน้ามาเกือบครบรอบ 1 ปีในวันพรุ่งนี้ (24 ก.พ.)

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำลังถกเถียงถึงญัตติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเครนและชาติพันธมิตร ซึ่งเรียกร้องให้รัสเซียถอนทัพออกจากยูเครนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ ยูเครนหวังว่าการสนับสนุนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จากประเทศต่างๆ จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาคมโลก

อย่างไรก็ดี รัสเซียกล่าวหาว่าชาติตะวันตกต้องการเอาชนะรัสเซียไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ในขณะที่ วาซิลี เนเบนยา เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรเตรียมพร้อมที่จะทำให้ทุกชาติบนโลกทั้งใบเข้าสู่สงคราม

ก่อนหน้านี้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ส่งทหารมากถึง 200,000 นายไปยังยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 นับเป็นการรุกรานในยุโรปครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่การสิ้นสุดลงของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 

ตามการประมาณการของสหประชาชาติ สงครามยูเครนได้ทำลายล้างและส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 7,199 คน และได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันคน ในขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ชี้ว่า รัสเซียและยูเครนต่างพบกับตัวเลขทหารของพวกเขา ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างน้อย 100,000 นาย ทั้งนี้ มีผู้คนมากกว่า 13 ล้านคนต้องลี้ภัยในต่างประเทศหรือพลัดถิ่นในยูเครนจากสงครามในครั้งนี้

ปูตินอ้างเหตุผลของการรุกราน หรือสิ่งที่รัสเซียเรียกว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ของเขาในยูเครนว่ามีจำเป็นเพื่อ "ลดกำลังทหารและถอนระบอบนาซีออกจากยูเครน" ในขณะที่ยูเครนเองเป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์มากับรัสเซีย ทั้งนี้ ยูเครนและชาติพันธมิตรประณามการโจมตีที่ปราศจากการยั่วยุของรัสเซียว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีความชอบธรรมใดๆ

“การรุกรานนั้นเป็นการดูหมิ่นมโนธรรมสำนึกร่วมของเรา” กูเตอร์เรสกล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ "เป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ" โดยเลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า ผลที่ตามมาที่เป็นไปได้ของ "ความขัดแย้งที่หมุนวน" คือ "อันตรายที่ชัดเจนและมีอยู่ในปัจจุบัน" 

กูเตร์เรสกล่าวอีกว่า สงครามกำลัง "ประโคมความไม่มั่นคงในภูมิภาค และจุดชนวนความตึงเครียดและความแตกแยกทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เบี่ยงเบนความสนใจและทรัพยากรจากวิกฤตอื่นๆ และกดดันประเด็นระดับโลก" เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเสริมว่ามี "การคุกคามไปโดยปริยายในการใช้อาวุธนิวเคลียร์" ทั้งนี้ โลก “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องถอยออกมาจากปากเหว”

"ความเชื่องช้ามีแต่จะทำให้วิกฤตหยั่งลึกขึ้น ในขณะเดียวกันก็กัดเซาะหลักการร่วมกันของเราที่ประกาศไว้ในกฎบัตร สงครามไม่ใช่ทางออก สงครามคือปัญหา ผู้คนในยูเครนกำลังทนทุกข์อย่างแสนสาหัส ชาวยูเครน รัสเซีย และผู้คนที่อยู่ไกลออกไปต้องการสันติภาพ" เลขาธิการสหประชาชาติระบุ โดยมี 60 ประเทศที่สนับสนุนข้อมติดังกล่าว ที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแสวงหาสันติภาพที่ครอบคลุม ยุติธรรม และยั่งยืนในยูเครนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจำต้องสอดคล้องกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ

การกล่าวประณามรัสเซียในครั้งนี้ของกูเตอร์เรส เกิดขึ้นหลังจากที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวสุนทรพจน์ตำหนิชาติตะวันตกและยูเครนว่าเป็นต้นเหตุสงคราม โดยในคำปราศรัยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ก.พ.) ปูตินยังประกาศการตัดสินใจของรัสเซีย ที่จะระงับสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ฉบับสำคัญ หลังจาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งเสร็จจากการเดินทางเยือนกรุงเคียฟโดยไม่แจ้งหมายกำหนดการล่วงหน้า พร้อมกันกับการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวชื่นชมประชาธิปไตยของชาติตะวันตก ที่ยืนหยัดต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย

ไบเดนได้เรียกร้องให้รัสเซียทบทวนการตัดสินใจในการระงับสนธิสัญญาที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ และรัสเซียในปี 2553 เพื่อป้องกันการเกิดสงครามนิวเคลียร์ พร้อมชี้ว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ 

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (22 ก.พ.) ปูตินได้พบกับ หวังอี้ เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายต่างประเทศระดับสูงของจีนในกรุงมอสโก และกล่าวว่าความร่วมมือของรัสเซียกับจีนนั้น "สำคัญมากในการทำให้สถานการณ์ระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ" อย่างไรก็ดี การเดินทางเยือนรัสเซียในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน เป็นการปิดฉากการอ้างตัวถึงความเป็นกลางของจีนเกี่ยวกับสงครามในยูเครน


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-64739975?fbclid=IwAR0dHMjfTLB28Wrvy8Pe6iKg4K2Zgl6VojoHcWLOaYn9qq0LP0mFWGUOyIM