ไม่พบผลการค้นหา
เวียดนามไฟเขียวเที่ยวบินพาณิชย์ในประเทศรื้อฟื้นเส้นทางไป-กลับ 6 สนามบินแถบเอเชีย แต่ยังไม่รวมไทย ไม่เน้นนักท่องเที่ยว เน้น 'นักธุรกิจ ทูต นักเรียน-นักศึกษา แรงงานทักษะสูง' อยู่ในเวียดนามไม่เกิน 14 วัน 'ไม่ต้องกักตัว' แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด นักวิเคราะห์ชี้ เวียดนามต้องดิ้นรนพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคมเวียดนาม เห็นชอบให้เที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศเดินทางเข้าและออกสนามบินนานาชาติในเวียดนามได้เป็นครั้งแรกช่วงกลางเดือน ก.ย. 2563 หลังจากรัฐบาลเวียดนามมีคำสั่งระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

เว็บไซต์ VN Express สื่อเวียดนามรายงานว่า เที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้นำผู้โดยสารมายังเวียดนามได้ ประกอบด้วย เที่ยวบินจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2563

ส่วนเที่ยวบินจากลาวและกัมพูชาจะเข้าเวียดนามได้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.เป็นต้นไป แต่ยังไม่รวมเที่ยวบินจากประเทศไทย

ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเวียดนามพร้อมเที่ยวบินพาณิชย์เหล่านี้ ได้แก่ นักลงทุน นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐและนักการทูตของประเทศต่างๆ พร้อมด้วยผู้ติดตาม รวมถึงนักเรียนนักศึกษาชาวต่างชาติ แรงงานทักษะสูง ผู้เข้าร่วมการประชุมหรือฝึกอบรมทางธุรกิจ ชาวเวียดนามที่ตกค้างในต่างประเทศเพราะมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 และสมาชิกครอบครัวชาวเวียดนามที่มีสัญชาติอื่นๆ 

ในระยะแรกรัฐบาลเวียดนามคาดว่าจะมีเที่ยวบินไป-กลับระหว่างเวียดนามและปลายทางใน 6 สนามบิน ประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และอาจมีการปรับเปลี่ยนจำนวนเที่ยวบินตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความต้องการของผู้เดินทาง ส่วนนักท่องเที่ยวยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเวียดนามในขณะนี้

โรงเรียน นักเรียน เวียดนาม.jpg

ผู้เดินทางเข้าเวียดนามต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?

เงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศเวียดนามด้วยเที่ยวบินพาณิชย์ ผู้เดินทางจะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 'เป็นลบ' ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วันก่อนการเดินทาง และต้องใช้วิธีตรวจเชื้อในทางเดินหายใจ Real-time หรือ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

เมื่อเดินทางถึงเวียดนามต้องเข้าสู่โปรแกรมกักตัวของภาครัฐหรือสถานที่กักตัวของหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง และต้องตรวจหาเชื้ออีกครั้ง โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัวและการตรวจร่างกายด้วยตนเองทั้งหมด

กรณีที่ผลตรวจเป็นลบจะได้รับการลดหย่อนวันที่ต้องกักตัว จากเดิม 14 วัน เหลือเพียง 5 วัน แต่ถ้าผู้เดินทางแสดงอาการเข้าข่ายผู้ติดเชื้อในระหว่างอยู่ที่เวียดนาม จะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวอีก 14 วัน พร้อมตรวจหาเชื้อ

ส่วนกรณีผู้เดินทางพำนักอยู่ในเวียดนามไม่ถึง 14 วัน ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวในสถานที่ที่ภาครัฐจัดหาให้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านสาธารณสุข 'อย่างเคร่งครัด' ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ งดเว้นการจับมือทักทาย การหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายบุคคลอื่น รวมถึงการปฏิบัติตัวเพื่อรักษาสุขอนามัยอื่นๆ

ผู้เดินทางเข้าประเทศ พร้อมด้วยองค์กรหรือบริษัทที่เชื้อเชิญผู้เดินทาง ต้องร่วมกันรับผิดชอบการประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงสถานการณ์ในต่างประเทศ เพื่อยืนยันว่าผู้เดินทางได้รับความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในเวียดนาม

โรงงาน-แรงงาน-เวียดนาม.jpg

'วิกฤตสาธารณสุข' ลุกลามเป็น 'วิกฤตเศรษฐกิจ'

ผลสำรวจล่าสุดของรัฐบาลเวียดนามเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ระบุว่า สถิติผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,063 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 35 ราย แต่ไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 12 วัน ถือเป็นสถิติที่น้อยกว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ

เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานอ้าง 'หวูทันตู๋อันห์' คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟุลไบรต์เวียดนาม ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของคณะรัฐมนตรีเวียดนาม ระบุว่า แรงกดดันให้รัฐบาลเปิดพรมแดนและดำเนินกิจกรรมตามปกติเหมือนก่อนโควิด-19 กลายเป็นเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ เพราะวิกฤตด้านสาธารณสุขจะนำไปสู่วิกฤตทางด้านเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางเลี่ยง แต่การเปิดพรมแดนต้อนรับเที่ยวบินพาณิชย์ที่เดินทางจากต่างประเทศจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม หวูทันตู๋อันห์เชื่อว่าการเปิดพรมแดนเพื่อต้อนรับเที่ยวบินระหว่างประเทศจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของเวียดนามในสายตาประชาคมโลก และช่วยส่งเสริมความนิยมของรัฐบาลเวียดนามเองด้วย หลังจากที่รัฐบาลต้องปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจากเดิม เพราะโควิด-19

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเวียดนามได้จัดทำแบบสำรวจความเห็นของตัวแทนบริษัทเอกชน 400 แห่ง และสมาคมทางการค้า 15 แห่งที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงล็อกดาวน์ พบว่า 76% ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว โดยจำนวนดังกล่าวมีผู้ตอบแบบสอบถาม 33% ที่ระบุว่ากิจการของตนจำเป็นต้องปลดพนักงาน ส่วนใหญ่เป็นกิจการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ส่วนอีก 20% ตอบว่าจำเป็นต้องปิดกิจการหรือถูกกดดันให้ปิดกิจการ เพื่อหลีกเลี่ยงภาระหนี้สินเพิ่มเติม และมีเพียง 2% เท่านั้นที่ตอบว่ากิจการไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย

โควิดเวียดนาม_AFP

ตอกย้ำภาพลักษณ์ 'ฐานการลงทุน-การผลิต' แห่งเอเชีย

SCMP รายงานอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของเวียดนามอีกรายหนึ่ง ประเมินว่า อัตราว่างงานในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นอีก การพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นการกระตุ้นการลงทุนในประเทศแทน เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและทำให้เกิดความต้องการบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การที่เวียดนามเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดรับเที่ยวบินพาณิชย์จากต่างชาติ ต้องมุ่งเน้นที่กลุ่มนักลงทุน นักธุรกิจ และแรงงานทักษะสูงเป็นกลุ่มแรกๆ และต้องเปิดรับเฉพาะประเทศที่เป็น 'ตัวเลือกปลอดภัย' ไม่สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดร้ายแรงระลอกใหม่

ส่วนกระทรวงวางแผนนโยบายและการลงทุนของเวียดนามประเมินว่า การผ่อนผันมาตรการควบคุมการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ จะช่วยปลดล็อกให้การลงทุนและการดำเนินกิจการที่เคยหยุดชะงักไประยะหนึ่งช่วงโควิด-19 เริ่มกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกครั้ง 

ที่ผ่านมา หลายประเทศในเอเชียมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเวียดนามในฐานะที่เป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่น่าจับตามองในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มทุนจาก 'เกาหลีใต้' ซึ่งคิดเป็น 18.1% ของการลงทุนจากต่างชาติในเวียดนามช่วงปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าราว 68,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.05 ล้านล้านบาท) ส่งผลให้ประธานหอการค้าเกาหลีใต้ประจำเวียดนามเป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนการเปิดรับเที่ยวบินระหว่างประเทศในครั้งนี้

ขณะที่นักวิจัยของบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Vriens & Partners มองว่านี่จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศอื่นๆ เริ่มทยอยพิจารณาผ่อนคลายมาตรการปิดกั้นการเดินทางระหว่างประเทศตามอย่างเวียดนาม เช่น ไทยและสิงคโปร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: