ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธารเชิญชวน ครม. ใส่ชุดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์" สั่งเตรียมรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ ทบทวน กม.ขายเหล้า ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ทุกกระทรวงประสานจีน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 6 ประจำปี 2568 นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มีข้อสั่งการในการประชุมดังนี้

1. ลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์" สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์" เนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ประจำปีการศึกษา 2566 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์ท่านได้พระราชทานผ้าลายดังกล่าวแก่ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรมไทยเพื่อนำไปถักทอผืนผ้า และสร้างสรรค์งานหัตถกรรม 

โดยนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนให้คณะรัฐมนตรีทุกท่าน สวมใส่ผ้าลายพระราชทานสิริราชพัสตราภรณ์ และขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันประชาสัมพันธ์ผ้าลายพระราชทาน พร้อมกับให้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการสวมใส่ตามโอกาสต่าง ๆ พร้อมทั้งศึกษาต่อยอดส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป

2. นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการต่อไปว่าขอให้ดำเนินการศึกษาทบทวนกฎหมายการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปรับรูปแบบ ข้อบังคับทางกฎหมายให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เมื่อ 53 ปีที่แล้ว โดยรัฐบาลได้รับหนังสือจากภาคธุรกิจเอกชนหลายกลุ่ม เสนอถึงข้อเรียกร้องในการพิจารณา ปรับข้อบังคับในการอนุญาตขายให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมามีข้อจำกัดทางกฎหมายไม่สอดรับกับความเป็นจริงในสังคม

โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.มหาดไทย ก.ท่องเที่ยวฯ ก.ยุติธรรม และ ก.สาธารณสุข ไปศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การห้ามจำหน่ายระหว่างเวลา 14.00 -17.00 น. ว่าเหมาะสมหรือสอดรับความเป็นจริงในสังคมไทยอย่างไร และการห้ามจำหน่ายในวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมถึงการห้ามจำหน่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจจะติดขัดในเรื่องของข้อจำกัดทางด้านเขตพื้นที่ควบคุม (zoning) โดยขอให้พิจารณา ปรับปรุงแก้ไขในข้อกฎหมาย หรือข้อบังคับหรือประกาศ ใดๆที่ทำได้ก่อนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคม 2568 นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ แต่ทั้งนี้ขอย้ำว่า จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และการป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้อย่างเหมาะสม และเป็นรูปธรรม สอดรับกับความเป็นจริงในประเทศไทย

ทั้งนี้ในการสนับสนุน เศรษฐกิจของประเทศให้คำนึงถึงการที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้ปีนี้ เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้มีการ ส่งเสริมในการจัดกิจกรรมระดับโลกต่าง ๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีทั้งในเมืองหลัก และเมืองน่าเที่ยว ซึ่งจะเป็นการทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่นโรงแรม ร้านอาหาร ได้รับประโยชน์ต่อไป

3. การศึกษามาตรการทางการค้ากับอเมริกาเนื่องด้วยสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ จะมีการประกาศนโยบายทางการค้า เช่น กำแพงภาษี ที่อาจจะเป็นผลเสียต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยรวมถึงสินค้าอื่น ๆ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 เพื่อดำเนินการศึกษาวางแผน และรับมือนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย กับสหรัฐอเมริกาในภาพรวม เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการค้า และการลงทุนของประเทศ โดยมีท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะทำงาน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น BOI ก.เกษตรฯ ก.ต่างประเทศ ก.พาณิชย์ ร่วมเป็นคณะทำงานนั้นขอให้คณะทำงานดังกล่าว รวมถึง ก.เกษตรฯ และ ก.กลาโหม เร่งศึกษาสรุปข้อมูล ทั้งผลดีผลเสีย และมาตรการรับมือเจรจาต่อรองทางด้านการค้าการลงทุน เพื่อนำมาเสนอต่อ ครม. ในครั้งต่อไป

4. ในการเดินทางไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการจากการนั้น ขอให้ ก.คมนาคม เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 พร้อมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่2 นครราชสีมา - หนองคาย ที่ ครม. เพิ่งจะอนุมัติไป เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการเดินทางทั้งประชาชน และสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงเร่งประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการ Landbridge เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน 

และขอสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก.ต่างประเทศ ก.มหาดไทย ก.ดิจิทัลฯ หน่วยงานความมั่นคง เร่งหาความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติออนไลน์ กับทางการจีนอย่างเร่งด่วน

ส่วนด้านสินค้าการเกษตร ขอให้ ก.เกษตรฯ เร่งรัดติดตามการจัดตั้ง Joint Working Group ไทย-จีน ร่วมกันจัดทำมาตรฐานและกำหนดข้อตกลงที่เกี่ยวกับแนวทางดำเนินการตรวจปล่อยสินค้าเกษตรระหว่างกัน (Mutually Acceptable Procedure)ในสินค้าพืช ปศุสัตว์ (โคเนื้อ) และประมง ให้เกิดผลโดยเร็ว