ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 ธ.ค.) ประชาชนชาวชิลีลงมติไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญอนุรักษ์นิยมฉบับใหม่ แทนที่รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ฉบับปัจจุบัน ในการลงประชามติทั่วประเทศ โดยเสียงส่วนใหญ่ได้ลงมติ "คัดค้าน" มากกว่า 55% ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติทั้งหมด

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2523 ของชิลีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งร่างขึ้นระหว่างการปกครองระบอบเผด็จการอันนองเลือดของ พล.อ.ออกุสโต ปิโนเชต์ จะยังคงมีผลบังคับใช้ในชิลีต่อไปอยู่ นับเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองและมวลชนฝ่ายก้าวหน้าของชิลี และรัฐบาลฝ่ายซ้ายชุดปัจจุบัน ทั้งนี้ การลงคะแนนเสียงประชามติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นับเป็นการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ในรอบหลายปีที่ผ่านมาของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในชิลี

“กระบวนการตามรัฐธรรมนูญจะจบลงในระหว่างรัฐบาลของเรา” กาเบรียล บอริก ประธานาธิบดีชิลี กล่าวในการปราศรัยต่อประชาชนทั่วประเทศในช่วงค่ำวันอาทิตย์ ภายหลังการประชุมวงในของบอริกที่ ลา โมเนดา ทำเนียบประธานาธิบดีชิลีในกรุงซานติอาโก “ยังมีเรื่องเร่งด่วนอื่นอีก (ที่ต้องจัดการ)” ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายของชิลีระบุ โดยบอริกกล่าวว่าชิลีจะไม่มีกระบวนการทางรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนที่วาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาจะสิ้นสุดลงในปี 2569 

“เราได้ฟังประชาชน และทางเลือก 'คัดค้าน' ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งทำให้เรามีความรับผิดชอบอย่างมาก” แคโรไลนา เลเตา นายกเทศมนตรีกรุงซานติอาโก และหนึ่งในบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำในการรณรงค์ "คัดค้าน" การรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 กล่าว

มีสมาชิกพรรคมารวมตัวกันหน้าธงชาติขนาดยักษ์ บริเวณสำนักงานใหญ่ของพรรคสหภาพประชาธิปไตยอิสระฝ่ายขวาทั่วทั้งเมืองเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ และประกาศว่ารัฐธรรมนูญปี 2523 ได้รับชัยชนะ และจะมีผลบังคับใช้ต่อไป “โดยสรุป ชิลีไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือสถาปนากฎใหม่” ฮาเวียร์ มาคายา วุฒิสมาชิกชิลี ซึ่งเป็นประธานพรรคกล่าว พร้อมกันนี้ มาคายาเรียกร้องให้พรรคฝ่ายซ้ายของชิลียุติความพยายามในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญทุกประการ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายซ้ายประสบกับความล้มเหลวในการทำประชามติครั้งก่อนหน้านี้

ชิลีประสบกับการประท้วงต่อต้านความไม่เท่าเทียมครั้งใหญ่ในเดือน ต.ค. 2562 ส่งผลให้ชนชั้นการเมืองของชิลีวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นแนวทางในการปราบปรามความไม่สงบจากการชุมนุมของประชาชน

เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว หลังจากการถกเถียงกันอย่างยาวนานและสร้างความแตกแยกเป็นเวลา 3 ปี ผู้มีสิทธิออกเสียงของชิลี 62% ปฏิเสธการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้า ซึ่งรับประกันสิทธิและเสรีภาพหลายประการ รวมถึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางต่อระบบตุลาการและการเมืองของประเทศ

ผู้มีสิทธิออกคะแนนเสียงในชิลีมีความคิดหันขวา สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 และผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เลือกสมาชิกสภา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เป็นของพรรครีพับลิกันฝ่ายขวา ที่เป็นฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอในการทำประชามติครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ของชิลีมีหลายมาตราที่เป็นข้อขัดแย้งจำนวนมาก โดยนักเคลื่อนไหวกล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจนำไปสู่การยกเลิกการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ กฎหมายยังมีมาตรการที่เข้มงวดในการจัดการกับประเด็นของพรรครีพับลิกัน เช่น การอพยพอย่างผิดกฎหมาย และความมั่นคงสาธารณะ และประกาศให้เป็นหน้าที่ของชาวชิลีในการให้เกียรติต่อสัญลักษณ์ประจำชาติ

บุคคลสำคัญในการรณรงค์ออกเสียงประชามติชิลี ต่างปฏิเสธการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยพวกเขาระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูเหมือนเป็นแถลงการณ์ของพรรครีพับลิกันมากกว่าโครงการระยะยาวของประเทศ และอาจทำให้รัฐบาลฝ่ายซ้ายนำวาระของตนไปปฏิบัติได้ยาก ในขณะที่ฝ่ายขวาหลายคนของชิลีกล่าวว่า การลงคะแนนเสียงเป็นแบบ "ต่างฝ่ายต่างได้" ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงรูปแบบตลาดเสรีที่เกิดขึ้นในสมัยเผด็จการปิโนเชต์ ซึ่งก็จะยังคงเป็นอยู่ไม่ว่าผลลัพธ์การลงประชามติจะเป็นอย่างไร

ประชาชนเดินเข้าออกหน่วยเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความร้อนอบอ้าวของเดือน ธ.ค. โดยประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่มีความกระตือรือร้นในการลงประชามติครั้งนี้ หลังจาก 4 ปีของความไม่แน่นอนทางการเมืองและการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญชิลี ทั้งนี้ การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญชิลีในครั้งนี้หมายความว่า ปัญหาในรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะยังไม่ได้รับการแก้ไข 

“ผลลัพธ์ของกระบวนการทั้งสองจบลงด้วยความรุนแรงเกินกว่าที่ชิลียินดีจะยอมรับ” คลอเดีย เฮสส์ คณบดีคณะรีัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิลีกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ หลังจากทราบผลแล้ว “ชนชั้นทางการเมืองจำเป็นต้องค้นหาแนวทางที่ถ่อมตัวและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งต้องไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลังด้วย”


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/dec/18/chile-votes-reject-conservative-constitution-referendum-womens-rights