นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย เรื่อง 'ประเทศไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19' ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2563 จะหดตัวกว่าร้อยละ 5 และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีกว่าที่จะกลับไปสู่ระดับการเติบโตได้เท่ากับช่วงก่อนที่จะประสบปัญหาโควิด-19
ทั้งนี้จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในวันนี้ (30 มิ.ย.2563) พบว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในไตรมาสที่สองของปี 2563 โดยมีคนตกงานกระจายไปทั่ว และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลาง และครัวเรือนที่ยากจน
แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรง เช่น ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ประเทศไทยเกือบจะห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค.2563
พร้อมกับประเมินการส่งออกปีนี้น่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 6.3 ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงรายไตรมาสที่แรงที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศยังคงอ่อนแอ อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะลดลงร้อยละ 3.2 เนื่องจากมาตรการห้ามการเดินทางและรายได้ที่ลดลง ซึ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะในไตรมาสที่สองของปี 2563
แม้ว่าประเทศไทยเริ่มผ่อนปรนเรื่องการห้ามการเดินทาง ซึ่งน่าจะทำให้การบริโภคภายในประเทศที่เดิมมีความเข้มแข็งอยู่แล้วและเป็นเครื่องจักรผลักดันเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่สองของปี 2563 และในปี 2564 แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ปรับตัวและยังมีความไม่แน่นอนอยู่
อีกทั้งโดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ในปี 2564 และ 3.6 ในปี 2565 ซึ่งสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดภายในกลางปี 2565 แต่รูปแบบของการฟื้นตัวยังขึ้นอยู่ปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ การท่องเที่ยวที่เปราะบาง รวมไปถึงการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน
"พลังของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับนโยบายในการรับมือวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง และในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง" นางเบอร์กิท กล่าว
พร้อมกับคำแนะนำว่า ประเทศไทยน่าจะได้นำมาตรการที่เสริมความคล่องตัวของตลาดแรงงานมาพิจารณา เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าจ้างที่มุ่งเป้าไปสู่บุคคลที่อยู่ในภาคการผลิตที่เปราะบางที่สุด และการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกับการทำงานจริงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง
ครัวเรือนชนชั้นกลางในภาคผลิตและบริการไม่มั่นคงทางศก.เพิ่มขึ้น 3 เท่า
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จะมีคนตกงานหรือสูญเสียการจ้างงานประมาณ 8.3 ล้านคนจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจะทำให้งานมากมายโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง
โดยในรายงานพบว่า จำนวนผู้ที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือ ผู้ที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐ (ตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ) จะสูงขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสแรก เป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่สองของปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัดส่วนของคนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลางในภาคการผลิตและภาคบริการจะเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัว จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 20
ดังนั้น เพื่อปกป้องครัวเรือนที่เปราะบาง รายงานฉบับนี้เสนอว่า ควรขยายความคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้สูงอายุและแรงงานข้ามชาติไม่ให้ถูกมองข้าม
พร้อมกันนี้รายงานยังได้เสนอแนะว่า ควรให้เงินอุดหนุนแก่กลุ่มที่เปราะบางต่อไป และถ้าเป็นไปได้ ควรพยายามเชื่อมโยงการให้เงินอุดหนุนไปกับการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และความสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ในระยะปานกลาง
อีกทั้งประเทศไทยควรพิจารณาโครงการที่จะให้ประโยชน์ครอบคลุมทั่วทุกด้านเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคและวิกฤตการณ์อื่น ๆ ทั้งนี้ ควรเสริมด้วยการมุ่งเป้าโครงการไปที่กลุ่มคนยากจน
นโยบายการคลังยังมีพื้นที่พอ จ่ายเยียวยา 5 พันขยายเวลาได้
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการที่เปราะบาง ธรรมชาติของการสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ควรจะต้องปรับเปลี่ยนจากการช่วยเหลือในภาวการณ์ฉุกเฉิน ไปสู่การเสริมสร้างผลิตภาพของผู้ประกอบการที่ยังประกอบกิจการอยู่ รวมถึงปรับทิศทางการสนับสนุนด้านการคลัง จากมาตรการฉุกเฉินไปสู่โครงการสร้างงานชั่วคราว โดยเพิ่มความสะดวกให้กับบริษัทที่จะเข้าร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือการรับทำงานสาธารณะ
ส่วนลำดับต่อไปควรจะปรับเปลี่ยนการสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการและการเพิ่มผลิตภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นส่งเสริมการลงทุนเพื่อการฝึกอบรมแรงงาน ฝึกอบรมการบริหารงาน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบกิจการ
พร้อมกับให้ความเห็นว่า งบประมาณและนโยบายการคลังของไทยยังมีพื้นที่พอสมควรที่จะรับมือโควิด-19 และจะขยายการใช้จ่าย หากผลกระทบยังมีต่อเนื่องในไตรมาสต่อไป ดังนั้น นโยบายจ่ายเงินเยียวยาแรงงานและผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท ยังขยายได้ต่อ เนื่องจากยังมีงบประมาณเหลือจะใช้ได้ ส่วนการลงทุนในปี 2564 โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานและเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย ที่อาจไม่ได้รับโอกาสจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
"การใช้งบประมาณของไทยยังมีความท้าทายของการเบิกจ่าย ที่ยังไม่สูง ซึ่งขึ้นกับประสิทธิภาพการบริหารของภาครัฐ และประเทศไทยต้องกลับมาดูสถานะทางการคลังให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น เรื่องภาษี และการลดหนี้สาธารณะ" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :