ไม่พบผลการค้นหา
จ.สงขลา ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติทั่วจังหวัด ทั้ง 16 อำเภอ ล่าสุด ได้รับความผลกระทบ 93 ตำบล 671 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้ว กว่า 95,000 ราย ด้านผู้ว่าฯ สงขลา เน้นย้ำพร้อมให้การดูแลช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างเต็มที่

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา รายงาน สถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสงขลา วันนี้ (28 พ.ย.2567) เวลาประมาณ 19.45 น. จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 ส่งผลให้ นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติทั้ง 16 อำเภอ ซึ่งได้รับผลกระทบแล้ว 93 ตำบล 671 หมู่บ้าน 28 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 48,947 ครัวเรือน รวม 95,221 ราย ขณะที่หลายพื้นที่ของจังหวัดยังคงมีน้ำท่วมขังในระดับสูง บางจุดการเดินทางถูกตัดขาด สร้างความยากลำบากให้กับประชาชน จนต้องเร่งอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จังหวัดสงขลาได้จัดตั้งศูนย์อพยพ 29 แห่ง รองรับผู้ประสบภัย 123 ครัวเรือน รวม 390 คน พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือ อาทิ เรือ 93 ลำ เครื่องสูบน้ำ 65 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง และรถ 6 ล้อยกสูง 9 คัน นอกจากนี้ยังจัดเตรียมกระสอบทรายกว่า 50,125 ใบเพื่อเสริมการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง พร้อมแจกจ่ายถุงยังชีพกว่า 9,671 ชุด อาหารปรุงสำเร็จ 24,102 กล่อง น้ำดื่ม 36,428 ขวด ยาและเวชภัณฑ์ 4,994 ชุด และจัดตั้งโรงครัว 37 แห่ง เพื่อดูแลประชาชนที่ประสบภัย

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ

- อำเภอนาทวี มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 13,873 ครัวเรือน

- รองลงมาคืออำเภอหาดใหญ่ (6,640 ครัวเรือน)

- คลองหอยโข่ง (6,547 ครัวเรือน)

- จะนะ (4,646 ครัวเรือน)

- เทพา (4,361 ครัวเรือน)

- สะเดา (3,901 ครัวเรือน) 

- เมืองสงขลา (3,384 ครัวเรือน) 

ขณะที่สถานการณ์ฝนตกหนักยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าจะมีผลกระทบจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567

นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับไว้ตลอดว่า หากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล ประชาชนต้องอิ่มท้อง ปลอดภัย จึงได้สั่งการให้ทุกอำเภอ จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ กรณีอุทกภัย วาตภัย และดินโคนถล่ม ประจำปี 2567 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมความพร้อมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อจัดการสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม พร้อมสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบราชการต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ สงขลา สั่งการ 16 อำเภอ พร้อมรับมืออุทกภัย

1) ให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ รับบริจาคน้ำดื่ม อาหารแห้ง ในจังหวัดและทุกอำเภอด่วน และขอให้นายอำเภอทุกทุกท่าน สั่งการในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ (ระดับอำเภอ)ให้เป็นเอกภาพ

2) เร่งเข้าดูแลประชาชนทุกจุด

3) จัดการด่วนเรื่องน้ำดื่ม อาหารมื้อแรก กรณีติดอยู่ไม่สามารถประกอบอาหารหรือหาซื้อเองได้

4) จัดรถยกสูงเข้าพื้นที่ พร้อมช่วยเหลืออพยพประชาชนด่วน

5) ให้ทุกอำเภอส่งเบอร์ผู้ประสานงานมายังจังหวัดด่วน

หากต้องการความช่วยเหลือโทร สายด่วน ปภ. 1785 | ศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือ สายตรงผู้ว่าฯ สงขลา 06-5236-1105 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่สถานการณ์หาดใหญ่ วันนี้ (28 พ.ย. 2567) เวลาประมาณ 20.50 น. ทางลอดรถไฟถนนจันทร์วืโรจน์ ไม่สามารถผ่านได้

พล.ต.ท. สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เข้าบัญชาการและสั่งการช่วยเหลือประชาชน บริเวณปลายถนนนิพัทธ์ภักดี ชุมชนจันทร์วิโรจน์ เพื่อกั้นกระสอบทรายป้องกันน้ำเข้าสู่ตัวเมือง และให้เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย นำเรือท้องแบนเข้าประจำการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งนำเชือกผูกเป็นระยะให้ประชาชนสามารถผ่านเข้าออกได้ เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเชี่ยว