ไม่พบผลการค้นหา
เริ่มเลยวันนี้ กทม. ชวนโหลดแอปฯ BKK Waste Pay ลงทะเบียนร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม” คงอัตราค่าขยะ 20 บาท/เดือน ย้ำความมั่นใจประชาชนแยกแล้ว กทม. ไม่เก็บรวม

วันนี้ (14 ม.ค. 68) เวลา 12.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร และนางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม แถลงความพร้อมการลงทะเบียน“บ้านนี้ไม่เทรวม: ลดขยะลดค่าธรรมเนียม” ทางแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay ระบบรองรับการจัดเก็บขยะจากประชาชนที่ร่วมคัดแยกขยะ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. .... และชวนคนกรุงเทพฯ ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม: ลดขยะลดค่าธรรมเนียม” ทางแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay เริ่มลงทะเบียนแจ้งเข้าร่วมโครงการล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568

กรุงเทพมหานคร ได้ปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง และปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน โดยสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 และข้อบัญญัติฯ นี้จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเษก 180 วัน ประมาณปลายปี พ.ศ. 2568 

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมฯ (ฉบับใหม่) นี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 บ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม หากไม่คัดแยกขยะจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 30 บาท) หากคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียมเดือนละ 20 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท)

กลุ่มที่ 2 ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน จ่ายค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 20 ลิตร (ค่าเก็บและขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร)

กลุ่มที่ 3 ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป หรือเกิน 1,000 ลิตร หรือเกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน) จ่ายค่าธรรมเนียม 8,000 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (ค่าเก็บและขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 เมื่อมีการคัดแยกและนำขยะไปใช้ประโยชน์ จะส่งผลให้ปริมาณขยะที่ทิ้งให้กรุงเทพมหานครนำไปกำจัดลดลง อัตราค่าธรรมเนียมฯ ในการจัดการขยะก็จะลดลงตามไปด้วย 

“ปัญหาขยะล้นเมือง เป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานครโดยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นภาระต่องบประมาณที่นำมาจัดการขยะอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะที่เก็บขนและนำไปกำจัดประมาณ 9,000-10,000 ตันต่อวัน และมีการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ณ แหล่งกำเนิดประมาณ 4,000 ตันต่อวัน ประกอบด้วย ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ประมาณ 2,000 ตันต่อวัน และขยะอินทรีย์ ประมาณ 2,000 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตามปริมาณขยะที่นำไปกำจัดยังมีปริมาณสูง สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาขยะของกรุงเทพมหานครยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้น เพื่อรับมือกับวิกฤตขยะ กรุงเทพมหานครได้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน 2 นโยบายหลัก ได้แก่ มุ่งเน้นการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เน้นให้ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ร่วมมือกันแยกขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิด เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด และเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นขยะเปียกจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมัก และนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะ เป็นการสร้างต้นแบบการแยกขยะในระดับเขต เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและส่งเสริมให้ประชาชนคนอื่น ๆ ได้ปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการกับแหล่งกำเนิดมูลฝอยโดยเฉพาะแหล่งกำเนิดขนาดกลางและขนาดใหญ่ เช่น สถานประกอบการต่าง ๆ โดยการขอความร่วมมือ แต่การขอความร่วมมือเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้มีการออกข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมขยะฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการยกระดับจากมาตรการขอความร่วมมือ มาเป็นการบูรณาการมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางกฎหมาย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แหล่งกำเนิดมูลฝอยโดยเฉพาะแหล่งกำเนิดมูลฝอยขนาดเล็ก เช่น บ้านพักอาศัย หมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ชุมชน มีส่วนร่วมในการแยกขยะมากยิ่งขึ้น

 “ข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมขยะฉบับใหม่นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะของกรุงเทพมหานคร โดยจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนและชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะ และมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะ โดยผู้ที่แยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าผู้ที่ไม่แยกขยะ” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

 แนะประชาชนแยกขยะ ลดค่าธรรมเนียมต้องทำอะไรบ้าง 

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมระบบรองรับการรับชำระค่าธรรมเนียมหลังจากที่ประชาชนคัดแยกขยะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบและชำระค่าธรรมเนียมมูลฝอย รวมถึงเข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม: ลดขยะลดค่าธรรมเนียม” การลงทะเบียนจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบตามประเภทของแหล่งกำเนิด คือ 

1. การลงทะเบียนแบบเดี่ยว สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม ผู้ที่ลงทะเบียนในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย หมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม/แฟลต ที่ไม่มีนิติบุคคล โดยเจ้าของบ้านหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ BKK Waste Pay กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือลงทะเบียนที่สำนักงานเขตที่บ้านเรือนตั้งอยู่ เริ่มลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 และระบบจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ สิ่งที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ประกอบด้วย รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ชื่อ-สุกล เบอร์โทรศัพท์ และภาพถ่ายการคัดแยกขยะ (ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ขยะทั่วไป) บ้านเรือนที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงใส่ขยะเศษอาหารสำหรับ 1 ปีแรก ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะทุก ๆ 3 เดือน สามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานได้แล้ววันนี้ทั้งในระบบ IOS: https://apps.apple.com/th/app/bkk-waste-pay/id1574454798 และระบบ Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.wingplus.bkkpersonalapp& pcampaignid=web_share

2. การลงทะเบียนแบบกลุ่ม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะเชิญนิติบุคคลมาประชุมเพื่อแจ้งรายละเอียดและแนวทางการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน หลักฐานที่ต้องแนบ เช่น รายงานการประชุมลูกบ้านที่มีมติ รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก และหลักฐานการใช้ประโยชน์ขยะ 

ขยะแยกแล้วไปไหน มั่นใจประชาชนแยกแล้ว กทม. ไม่เก็บรวม

กรุงเทพมหานคร ได้จัดระบบรองรับขยะที่ประชาชนคัดแยก ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ให้เทน้ำทิ้งกรองเฉพาะเศษอาหาร นำไปใช้ประโยชน์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก หรือเป็นอาหารสัตว์ หรือใส่ถุงสีเขียวมัดปากถุงให้แน่นทิ้งในถังสีเขียวหรือจุดทิ้งที่เขตกำหนด เพื่อรอสำนักงานเขตเข้าไปจัดเก็บตามรอบเวลา 

ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดน้ำ ขวดแก้ว ฯลฯ สามารถนำไปขายหรือแยกทิ้งให้กับสำนักงานเขต โดยฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทางซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะรีไซเคิล หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ จัดตลาดนัดรีไซเคิลในชุมชน นอกจากนี้ ได้ประสานกับแอปพลิเคชันรับซื้อหรือรับบริจาคขยะ มารับขยะถึงหน้าบ้าน หรือสามารถขายให้กับร้านหรือรถรับซื้อของเก่า 

ขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ กระป๋องแก๊ส/กระป๋องสเปรย์ และยาหมดอายุ เป็นต้น รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน หรือเขียนข้อความติดที่ป้าย นำไปทิ้งในจุดทิ้งขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ในชุมชน หมู่บ้าน สำนักงานเขต หรือฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทางซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะอันตราย หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ 

ขยะทั่วไป เช่น ซองขนม เศษผ้า แก้วกาแฟ ถุงแกง กล่องโฟม ถุงพลาสติก ฯลฯ ให้รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็น มัดปากถุง ทิ้งลงถังขยะทั่วไปสีน้ำเงิน ในชุมชน/หมู่บ้าน รอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด

สำหรับการแถลงข่าวในวันนี้ มีการเสวนาใน 2 หัวข้อ ประกอบด้วย “เตรียมความพร้อมสู่ข้อบัญญัติใหม่: จัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เพื่อกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน” และ “เทคนิคและวิธีลดปริมาณขยะเพื่อลดค่าธรรมเนียม” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้แทนจากสำนักสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีบูทนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเครือข่ายรีไซเคิล อาทิ มือวิเศษกรุงเทพ, มูลนิธิมือวิเศษ, โครงการวน, Ecolife, GC by YOU เทิร์น, RECYCLEDAY, WASTE BUY DELIVERY, WAKE UP WASTE, YOLO, Khaya ฯลฯ และการใช้ประโยชน์จากเศษอาหาร เช่น ถังหมักรักษ์โลก ของสำนักสิ่งแวดล้อม สถานีจัดการขยะเบ็ดเสร็จในพื้นที่เครือข่ายเรารักอโศก การกำจัดแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษอาหาร จาก บจก.เบสท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เครื่องกำจัดเศษอาหารจาก KEEN การกำจัดเศษอาหารด้วยหนอนแมลงทหารดำ จาก บจก.เจเนซิส เอกซ์ นวัตกรรมหมักปุ๋ยใบไม้ จาก บจก.ชายน์ เวิร์คส์ กระถางหมักเศษอาหาร ผัก DONE เครื่องกำจัดเศษอาหาร RAAKDIN เครื่องกำจัดขยะเศษอาหาร จาก OAKLIN, HASS และ TP BIO FAST1