นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 ทราบว่า จากที่เปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานอิสระ ลูกจ้างชั่วคราวเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
โดยตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. จนถึงวันที่ 16 เม.ย. 2563 พบว่า ผู้ลงทะเบียนมีจำนวนรวม 27.76 ล้านคน ถือว่ามีจำนวนมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้ง จากการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก จึงเห็นควรให้ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ได้รับสิทธิตามมาตรการด้วย
พร้อมกับย้ำว่า เมื่อได้รับสิทธิตามมาตรการนี้แล้วจะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการใด ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) อีกต่อไป
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้รับผลกระทบบางกลุ่มปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลนักเรียน/นักศึกษา แต่เป็นนักเรียน/นักศึกษาไม่เต็มเวลา และประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น จึงเห็นควรให้ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอทบทวนมติ ครม. ให้ขยายจำนวนผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิของมาตรการฯ จากเดิมจำนวน 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การขอขยายจำนวนผู้เข้าโครงการตามมาตรการดังกล่าวจะทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 1.35 แสนล้านบาท เป็น 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้จะได้งบประมาณฯ จากทั้งเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งจากการโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังประกาศกำหนดวันปิดรับลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ 'เราไม่ทิ้งกัน' ในวันที่ 22 เมษายน 2563 เวลา 24.00 น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :