ไม่พบผลการค้นหา
อาเซียนเตรียมเปิดการเจรจากับจีนอย่างเป็นทางการ หารือกรอบข้อปฏิบัติในการแก้ปัญหาพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ หลังข้อปฏิบัติดังกล่าวถูกทิ้งค้างมานาน ไม่มีการพูดคุยในรายละเอียด ท่ามกลางความตึงเครียดทางทหารระหว่างจีนกับชาติอาเซียนที่เป็นคู่พิพาท

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน ชาติสมาชิกอาเซียนตกลงจะเปิดการเจรจากับจีนอย่างเป็นทางการเรื่องแนวทางปฏิบัติระดับภูมิภาคในทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct (COC) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศในบริเวณทะเลจีนใต้ที่จะรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ด้วยการกำหนดแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ 

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าร่างแถลงการณ์ร่วมของชาติสมาชิกอาเซียนระบุว่า แม้ขณะนี้ความขัดแย้งบนพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้จะค่อยๆดีขึ้น แต่ก็จะประมาทไม่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาแนวทางปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็น การเดินเรือ การบิน การใช้ทรัพยากร ที่ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคนี้ 

กรอบการทำ COC มีการเจรจาสำเร็จไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญในการแก้ปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการเจรจาต่อเนื่องในแง่รายละเอียดต่างๆ ทำให้ COC ยังไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้จริง แม้ชาติอาเซียนจะต้องการเร่งให้มีการกำหนดแนวทางการใช้พื้นที่ทะเลจีนใต้ร่วมกับจีนอย่างเร็วที่สุดก็ตาม จึงนำมาสู่การผลักดันการเดินหน้าเจรจากำหนด COC ในที่ประชุมอาเซียนครั้งนี้ 

รายละเอียดที่คาดว่าจีนและอาเซียนจะต้องหารือกันต่อไปในการเจรจากำหนด COC คือการกำหนดของเขตทางภูมิศาสตร์ว่าหลักเกณฑ์ใน COC จะบังคับใช้กับพื้นที่ใดบ้างในทะเลจีนใต้ ครอบคลุมหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาททับซ้อนหลักหรือไม่ นอกจากนี้ เพื่อให้แนวทางดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศจริง ยังจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย และมาตรการตอบโต้หากมีการฝ่าฝืนกฎ รวมถึงการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อสอบสวนและไกล่เกลี่ยกรณีที่มีชาติใดชาติหนึ่งกล่าวหาชาติอื่นว่าละเมิด COC ด้วย

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาทเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศของอาเซียนอ้างกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน แต่อาเซียนก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกับจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว

นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีนี้และเป็นประเทศที่เคยมีความขัดแย้งกับจีนมากที่สุดเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ แต่ได้ลดท่าทีแข็งกร้าวลงมาแล้ว ได้กล่าวก่อนการประชุมว่า อาเซียนไม่ควรมีความขัดแย้งกับจีนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงขึ้นในภูมิภาค  

Vietnam China_Rata.jpg

เวียดนามกลายเป็นประเทศเดียวที่มีความขัดแย้งกับจีนมากที่สุดเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่า��มา จีนได้กดดันเวียดนามให้หยุดการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่พิพาท ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตึงเครียด แต่ว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้เดินทางไปหารือกับนายเหงียนฟู่จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติร่วมกันในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนและเวียดนามเห็นพ้องต้องกันที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นบนพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้

ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนยืนยันว่าจีนต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ด้วยการเจรจากับประเทศคู่กรณีโดยตรง และเชื่อว่าขณะนี้การแก้ไขปัญหากำลังมาถูกทางแล้ว ซึ่งผู้นำชาติอาเซียนต่างกำลังร่วมมือกับจีนในการแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอาเซียนพยายามรวมกลุ่มเจรจากับจีนในฐานะองค์กรระดับภูมิภาค รวมถึงใช้สหรัฐฯคานอำนาจจีน เพื่อเพิ่มศักยภาพการต่อรองกับมหาอำนาจใหญ่ของโลกอย่างจีน

ภาพ: AP