ไม่พบผลการค้นหา
ทางการอิตาลีเรียกการเก็บภาษีลาภลอยอัตรา 40% เพียงครั้งเดียว สำหรับเงินที่ธนาคารได้รับจากอัตราดอกเบี้ย และการทำกำไรของภาคธนาคารที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลอิตาลีต้องออกมาใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว อย่างไรก็ดี มาตรการอันน่าตกใจในครั้งนี้ส่งผลให้หุ้นในตลาดดิ่งตัวลง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอิตาลีระบุว่าเงินที่ได้จากการเรียกเก็บภาษีลาภลอยในครั้งนี้ จะถูกใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ถือจำนองและการลดภาษี แต่ธนาคารในอิตาลีระบุว่า ภาษีจากผลกำไรของกลุ่มธนาคารจะ "เป็นผลลบอย่างมาก" สำหรับภาคการเงิน

มาตรการเรียกเก็บภาษีลาภลอยในครั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบจาก จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงสายของวันจันทร์ (7 ส.ค.) โดยรัฐบาลอิตาลีมอบคำสัญญาว่า ภาษีลาภลอยที่เรียกเก็บไปนั้น จะได้รับการนำไปลงทุนในกองทุนเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจ ที่ต้องดิ้นรนกับต้นทุนการกู้ยืมเงิน

“เราต้องดูผลกำไรในครึ่งปีแรกของธนาคารเท่านั้น จึงจะตระหนักว่าเราไม่ได้พูดถึงเงินไม่กี่ล้าน แต่เป็นพันล้าน” มัตเตโอ ซัลวินี รองนายกรัฐมนตรีอิตาลี กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงโรมเมื่อค่ำวันจันทร์

ภาษีจะเรียกเก็บจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่มาจากช่องว่าง ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารและอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทั้งนี้ มีรายงานว่าภาษีที่เรียกเก็บในครั้งนี้ จะสร้างรายได้ให้แก่รัฐอิตาลีเป็นเงินประมาณ 2 พันล้านยูโร (ประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท) ซึ่งจะนำไปใช้เป็นทุนสนับสนุนครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยในขณะนี้ รัฐสภาของอิตาลีมีเวลา 60 วันในการผ่านกฤษฎีกาภาษีให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย

อันโตนิโอ ทาจานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Corriere della Sera ว่าภาษีไม่ได้เรียกเก็บเพื่อต่อต้านธนาคาร “แต่เป็นมาตรการเพื่อปกป้องครอบครัว” และผู้ที่ประสบปัญหาในการจ่ายเงินจำนอง

อย่างไรก็ดี ธนาคารในยุโรปบางแห่งกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่น่าประหลาดใจของรัฐบาลอิตาลีนี้ นับเป็นข่าวร้ายสำหรับภาคการเงิน โดย อัซเซอร์รา กูเอลฟี นักวิเคราะห์ด้านการวิจัยตราสารทุนของ Citi กล่าวว่า "เรามองว่าภาษีนี้เป็นผลลบอย่างมากสำหรับธนาคาร เนื่องจากมันมีทั้งผลกระทบต่อเงินทุนและกำไร ตลอดจนต้นทุนของหุ้นธนาคาร"

หลังจากการประกาศมติคณะรัฐมนตรีเรียกเก็บภาษีลาภลอย หุ้นในธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของอิตาลี ได้แก่ Intesa Sanpaolo และ UniCredit ปรับตัวลดลง 8% และ 6.5% ตามลำดับในเช้าวันอังคาร (8 ส.ค.) ในขณะที่หุ้นของธนาคาร Banco BPM ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ร่วงลง 8.2% ตามมาด้วยหุ้นของ Monte dei Paschi di Siena ซึ่งมีรัฐเป็นเจ้าของ ร่วงลง 7.4% นอกจากนี้ หุ้นของธนาคารอื่นๆ รวมถึง BPER Banca, Banca Generali และ Mediobanca มีการปรับตัวลดลงเช่นกัน

นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้แตกขยายไปยังธนาคารอื่นๆ เช่น Deutsche Bank และ Commerzbank ของเยอรมนี และ BNP Paribas และ Credit Agricole ของฝรั่งเศส ที่อัตราหุ้นมีการปรับตัวลดลงเช่นกัน

สจ๊วร์ต โคล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาคของ Equiti Capital กล่าวว่า "ภาษีที่อิตาลีเรียกเก็บจากผลกำไรส่วนเกินธนาคารต่างๆ ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ และมีแนวโน้มที่จะสร้างความกังวลว่าประเทศอื่นๆ อาจทำตามตัวอย่างของอิตาลี"

ประเทศในยุโรปอื่นๆ รวมถึงฮังการีและสเปนได้เรียกเก็บภาษีลาภลอยที่คล้ายกันกับอิตาลีต่อธุรกิจภาคธนาคาร นอกจากนี้ ในเดือน พ.ค. ส.ส.ลิทัวเนียได้สนับสนุนการเก็บภาษีชั่วคราวกับธนาคาร เพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายด้านการกลาโหมของประเทศ ในขณะที่เอสโตเนียกำลังวางแผนที่จะเพิ่มระดับภาษีจากธนาคารเป็น 18% เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปีนี้


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-66440335?fbclid=IwAR283btz6HWfeR2tKfcdvvpIDDLcg17eJOQyzzoZ_-5rW6ZKWUaSaAp0tj4