ไม่พบผลการค้นหา
อีกแง่มุมผลงานของคณะราษฎรและ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้านการยกระดับสาธารณสุขไทย และเสริมสร้างสุขภาพราษฎรไทยอย่างทั่วถึง

ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงเล็งเห็นความสำคัญด้านสุขภาพ กอปรกับความช่วยเหลือด้านการถ่ายทอดวิทยาการแพทย์สมัยใหม่และเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ มิชชันนารีและองค์กรเอกชน การแพทย์และสาธารณสุขไทยจึงได้พัฒนาอย่างสูง และพระองค์ยังมีดำริก่อตั้งกรมสาธารณสุขอันเป็นกรมหนึ่งภายใต้กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 

กระทรวงสาธารณสุขได้ถือว่าการก่อตั้งกรมสาธารณสุขเป็นการเริ่มต้นของการสาธารณสุขแบบแพทย์สมัยใหม่ของไทย และพ.ศ. 2561 ถือเป็นการครบรอบ 100 ปีสาธารณสุขไทย

10 มีนาคม พ.ศ. 2485 ก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุข

ถึงแม้ราชสำนักไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพราษฎรมากขึ้นเป็นลำดับและมีนโยบายขยายการบริการแพทย์สมัยใหม่ที่แต่เดิมกระจุกตัวอยู่ในเขตพระนครให้ขยายสู่เขตชนบทมากขึ้น แต่ทว่าการที่องค์กรด้านสุขภาพระดับชาติอยู่ภายใต้สายบัญชาการของกระทรวงมหาดไทยย่อมสะท้อนว่าความมั่นคงภายในของชาติมีความสำคัญมากกว่า ตัวชี้วัดที่บ่งบอกได้คือ งบประมาณด้านสุขภาพคิดเป็น 3.6% ของงบประมาณรัฐบาลกลาง ในขณะที่งบประมาณด้านการป้องกันประเทศสูงถึง 22.3% นอกจากนี้จำนวนบุคลากรด้านการแพทย์สมัยใหม่ก็ไม่เพียงพอ เมื่อพิจารณาจำนวนแพทย์แผนปัจจุบัน 564คนกับจำนวนประชารกว่า 12 ล้านคน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนจำกัดการขยายบริการการแพทย์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อีกทั้งระบบการปกครองและการบริหารที่รวมศูนย์กลางไม่กระจายอำนาจสู่หน่วยงานท้องถิ่น และไม่บูรณาการระหว่างกระทรวงก็สร้างความสับสนและไม่เป็นเอกภาพในการดำเนินนโยบายสุขภาพ อัตราการตายในช่วงปี พ.ศ. 2464-2473 อยู่ระหว่าง 14-17 คนต่อประชากร1000 คน  โรคติดต่อ เช่น พยาธิปากขอ มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ อหิวาตกโรค อันเป็นโรคที่สัมพันธ์กับความสะอาดและอนามัยต่างเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชน

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยพ.ศ. 2475 มิได้ทำให้การพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยช้าลง เพื่อทำตามหลักหกประการที่ประกาศไว้ รัฐบาลคณะราษฎรจึงพยายามสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความมั่นคงสุขภาพ ประชากรไทยบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษาการแพทย์สมัยใหม่ ส่วนที่เหลือยังคงใช้การรักษาแผนโบราณโดยไม่มีการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานการรักษา ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลไทยสร้างรัฐเวชกรรม โดยผลงานและความพยายามที่เด่นชัดที่สุดก็ปรากฏให้เห็นภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพราษฎรในฐานะความเข้มแข็งและความรุ่งเรืองของชาติ ถ้าราษฎรมีสุขภาพเข้มแข็งย่อมส่งเสริมพลังการผลิตและจำนวนทหารในกองทัพ

รัฐบาลได้ยกระดับกรมสาธารณสุขเพื่อแยกออกจากกระทรวงมหาดไทย และสถาปนาเป็นกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 ประกอบด้วยหน่วยงาน คือ สำนักเลขานุการรัฐมนตรี สำนักปลัดกระทรวง กรมการแพทย์ กรมประชาสงเคราะห์ กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมสาธารณสุข นอกจากนี้ได้มีการโอนกองสถิติและพยากรณ์ชีพอันเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลสถิติอนามัยประชากร ไปยังกระทรวงสาธารณสุข และมีการจัดตั้งคณะกรรมการสถิติชีพและอนามัยแห่งชาติในปี พ.ศ. 2492 เพื่อส่งเสริมการทำสถิติสุขภาพระดับชาติ โดยได้จัดทำสถิติ 3กลุ่มใหญ่คือ สถิติชีพ สถิติอนามัย และสถิติกิจการอนามัย พร้อมทั้งเริ่มมีการใช้เครื่องจักรกลเพื่อช่วยการทำงานและความถูกต้อง

โดยการผลักดันของสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญอีกท่าน��นึ่ง คือ ตั้ว ลพานุกรม ซึ่งจบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ประเทศเยอรมนี โรงงานเภสัชกรรมอันเป็นโรงงานผลิตยาแห่งแรกของรัฐจึงได้ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2482 เพื่อพัฒนาการปรุงยาให้เป็นวิทยาศาสตร์มีคุณภาพและมาตรฐาน และผลิตยาสมัยใหม่ให้ประชาชนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ท่านยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนและวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมถึงการผลิตเภสัชกรให้เพียงพอต่อความต้องการประชาชน         

รณรงค์เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพราษฎร

การค้นพบทฤษฎีเชื้อโรค การพัฒนาความรู้สถิติและสาธารณสุขในตะวันตกได้เปลี่ยนมุมมองสุขภาพที่แต่เดิมเน้นด้านการรักษาเมื่อเจ็บป่วยไปสู่การป้องกันโรคมากขึ้น วิทยาการดังกล่าวก็ได้ถ่ายทอดสู่สยามและประเทศไทย การรณรงค์เพื่อป้องกันโรคและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของราษฎรก็เป็นผลงานเด่นชัดหนึ่งของรัฐบาลจอมพล ป. ที่ประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพและสุขอนามัย นอกจากนี้รัฐบาลยังดำเนินการรณรงค์และโฆษณาชวนเชื่อเพื่อป้องกันโรค การออกกำลังกาย การแต่งกาย การรักษาความสะอาดในที่สาธารณะ รวมถึงการส่งเสริมการแต่งงาน มีบุตรและความรู้ด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรที่แข็งแรง

ขยายการบริการสุขภาพให้ราษฎร

รัฐบาลมีความพยายามสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดในทุกๆจังหวัด และขยายบุคลากรการแพทย์สมัยใหม่ไปประจำในจังหวัดต่างๆ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ปลูกฝี การบริบาลมารดา สุขาภิบาลและการปิ้งกันโรค เวชภัณฑ์และการรักษาสมัยใหม่ นอกจากนี้ได้บรรจุสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุข มารดาและทารกสงเคราะห์ การป้องกันและปราบปรามโรคระบาดโดยไม่คิดมูลค่าในมาตรา72 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2492 อย่างไรก็ตามปัญหาเศรษฐกิจและสงครามโลกครั้งที่2ก็ส่งผลให้การขยายไม่เป็นไปตามหวัง ผลงานที่ผ่านมาแสดงได้จากตัวชี้วัดต่อไปนี้ เช่น จำนวนการผลิตแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในช่วงปี พ.ศ. 2475-2498 คิดเป็น  3796คน งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่าง 2-7% ของงบประมาณรัฐบาล จำนวนสุขศาลาเพิ่มขึ้นเป็น 735 แห่งในปีพ.ศ. 2498 สร้างโรงพยาบาลทั้งสิ้น 77 แห่งใน 72 จังหวัด จำนวนคนไข้ที่มาใช้โรงพยาบาลกรมการแพทย์เพิ่มขึ้นจาก 118304 ครั้งในปี 2485 เป็น 1112982 ครั้งในปี 2498 อัตราการตายลดลงจาก 1510.3ต่อแสนประชากรในปี 2489 เป็น 966.6 ในปี 2497 อัตราการตายด้วยมาลาเรียลดลงจาก 210.5ต่อประชากรแสนคนในปี 2492 เป็น 73.1 ในปี 2498 อัตราการตายของทารกลดลงจาก 90-100 ต่อการเกิด1000คนในช่วงก่อนทศวรรษ 2490 เป็น60-70 ในช่วงทศวรรษ 2490    

และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างสำนึกใหม่ของพลเมืองต่อการให้ความสำคัญด้านสุขภาพตนเอง และการเรียกร้องหน้าที่ต่อรัฐบาลและผู้แทนราษฎรในการประกันความผาสุกและสุขภาพราษฎร โดยช่วงปี2476-2500 สภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้เรื่องสุขภาราษฎรเฉลี่ย 5-6 ครั้งต่อปี


อ่านเพิ่มเติม

ทวีศักดิ์ เผือกสม, เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

วิชัย โชควิวัฒน์ และ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (บรรณาธิการ), รอยเวลา : เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ, กรุงเทพฯ, สุขศาลา, 2556.

อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 15 ปี พ.ศ. 2485-2500, พระนคร, โรงพิมพ์อุดม, 2500.

ธันวา วงศ์เสงี่ยม, รัฐไทยกับสุขภาพพลเมือง พ.ศ.2475-2500, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

Executive Committee of the Eight Congress of the Far Eastern Association of Tropical Medicine, Siam in 1930: General and Medicial Features, White Lotus Press, 2000.

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog