ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประกอบการคลังข้าว ยืนยัน ข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ไม่เสื่อมคุณภาพตามที่รัฐตรวจสอบ มั่นใจสู้คดีชนะ พร้อมย้ำว่าวิธีแบ่งเกรดข้าวทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท

ผู้ประกอบการ คลังเก็บข้าว และเซอร์เวเยอร์ รวมกว่า 200 ราย จัดสัมมนาทางวิชาการ เพื่อพูดคุยหาทางออก หลังถูกองค์การคลังสินค้า หรือ อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรหรือ อตก.ฟ้องดำเนินคดี พร้อมออกประกาศคำสั่ง ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน จากผู้ประกอบการ 

นางประพิศ มานะธัญญา ตัวแทนผู้ประกอบการคลังข้าว ระบุว่าหลัง ผู้ประกอบการถูกฟ้องดำเนินคดีได้รับความเดือดร้อน เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงิน ค่าเช่าโกดังและค่าเก็บรักษาข้าวแล้ว ยังถูกองค์การคลังสินค้ายื่นโนติสเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล คลังเก็บข้าวบางแห่ง ถูกเรียกหลักร้อยล้านบาท ขณะที่บางแห่งสูงถึงหลักพันล้านบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถ ดำเนินกิจการต่อได้เนื่องจาก ขาดสภาพคล่อง ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ดำเนินกิจการ จึงตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวชอบธรรมหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการ ยังไม่ใช่ผู้แพ้คดี ที่สำคัญศาลยังไม่ได้ตัดสิน 

ผู้ประกอบการระบุเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา เก็บรักษาข้าว ตามสัญญาทุกประการ เป็นไปตามมาตรฐานที่ อคส.และ อตก.เป็นผู้กำหนด ขณะเดียวกันเห็นว่า การตรวจสอบคุณภาพข้าว โดยคณะทำงานร้อยชุด ของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ไม่ได้มาตรฐาน เจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมเพียง 2 วัน และเกณฑ์ ที่รัฐกำหนดขึ้นมาเองให้แบ่งเกรดคุณภาพข้าว นำมาสู่ปัญหา ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

พร้อมยืนยันว่าวิธีการดังกล่าวไม่มีประเทศใดบนโลกเลือกปฏิบัติ แตกต่างจากเซอร์เวเยอร์ ที่ต้องผ่านการอบรมและมีประสบการณ์สูง ในการทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพทั้งหมดจึงนำมา สู่ความเสียหายต่อรัฐ กว่า 1แสนล้านบาท โดยวิธีการ ที่รัฐเลือกปฏิบัติโดยไม่ฟังเสียงผู้ประกอบการ ทั้งนี้หากต้องต่อสู้ ในชั้นศาล มั่นใจว่าจะชนะคดีอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามสัญญาและเป็นไปตามมาตรฐานการเก็บรักษาข้าวทุกประการ 

ด้านนางสาวอิสราภรณ์ คงฉวี ผู้จัดการคลังวรโชติ จังหวัดอ่างทอง มั่นใจว่าการสู้คดีหลังถูกฟ้อง จาก อคส.จะได้รับชัยชนะ เพราะทุกขั้นตอนในการเก็บรักษา เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา พร้อมตั้งคำถามย้ำอีกครั้งว่า เหตุใดคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพข้าว จึงไม่ตรวจสอบข้าวซ้ำ หลังได้รับการร้องเรียน จากผู้ประกอบการ ว่ากระบวนการตรวจสอบ ไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตว่าคณะกรรมการมีเจตนาอย่างไรในเรื่องดังกล่าว

นายอภิสิทธิ์ อินทรกำแหง ทนายความ ผู้เชี่ยวชาญคดีข้าว ให้ความรู้ และแนวทางการต่อสู้กับเจ้าของคลังเก็บข้าว โดยระบุว่า การทำสัญญาเป็นลักษณะสัญญาการเก็บรักษาทรัพย์ โดยเจ้าของคลังมีหน้าที่รมยาเก็บรักษาเท่านั้น พร้อมชี้ให้เห็นว่า กระบวนการตรวจสอบคุณภาพข้าว ของรัฐ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยเฉพาะหนังสือสัญญาที่ระบุว่ากระบวนการตรวจสอบต้องเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ การใช้ ทหารทำหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ การสุ่มตรวจโดยเฉพาะการเก็บตัวอย่างข้าว และให้สภาหอการค้าเป็นผู้รับรอง และรับรองเฉพาะตัวอย่างที่ตรวจสอบเท่านั้น ไม่ได้รับรองข้าวทั้งคลัง สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานว่ากระบวนการสุ่มตรวจไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน ต่อศาลหรือชี้แจงต่อ ปปท.ได้

ส่วนกรณีที่ ปปท. เรียกเจ้าของคลัง ไปให้ข้อมูล ขอให้เจ้าของคลัง เตรียมข้อมูลให้เรียบร้อย พร้อมตั้งทนายที่ต้องเข้าใจเรื่องกระบวนการเก็บรักษาข้าวจะช่วยให้การสู้คดี ประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมแนะด้วยว่า การตรวจรับข้าวเข้าคลังเก็บ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยไม่มีข้อโต้แย้งในช่วงต้น ก็สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีได้ เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :