ไม่พบผลการค้นหา
บุรีรัมย์ทำอย่างไรชาวเมืองจึงมีรายได้เฉลี่ยเพิ่ม? โมเดลการกระจายรายได้ด้วยการพัฒนาท้องถิ่นเกิดขึ้นได้จริงเมื่อลงมือเปลี่ยนแปลง "เมือง" เก็บข้อมูลวิเคราะห์โดยธีรภัทร เจริญสุข ในคอลัมน์ อนาคตอยู่นอกกรุงเทพ

เมื่อพูดถึงเมืองที่เติบโตด้วยตัวเองอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปีมานี้ คงจะไม่มีที่ไหนเกินหน้าจังหวัดบุรีรัมย์ไปได้ จากการเกิดขึ้นและความสำเร็จของสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ดและสนามแข่งรถระดับโลก ทำให้บุรีรัมย์กลายเป็นทั้งจุดหมายปลายทางและแหล่งดึงดูดการลงทุนในสายตาของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ รวมทั้งนักกีฬา แต่ก็มีคำถามว่า ความเจริญของบุรีรัมย์นั้นกระจุกอยู่เพียงกลุ่มทุนการเมืองที่เป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาหรือไม่ และการกระจายรายได้ของชาวเมืองจริงๆ เป็นอย่างไร?

สนามบอล บุรีรัมย์.JPG

ศูนย์กลางความเจริญใหม่ของเมืองบุรีรัมย์อยู่ที่บริเวณรอบสนามฟุตบอล “ช้างสเตเดี้ยม” (ชื่อเดิม ไอโมบายสเตเดี้ยม) และสนามแข่งรถช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต หากดูภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังจะเห็นการขยายตัวและเปลี่ยนแปลงของสิ่งก่อสร้างโดยรอบอย่างชัดเจน

เทียบความเจริญเมืองบุรีรัมย์.jpg

เริ่มจากการเกิดขึ้นของสนามฟุตบอลและสนามแข่งรถ ตามด้วยโรงแรมในเครืออมารี และคอมมิวนิตี้มอลล์ “บุรีรัมย์คาสเซิล” ที่ จำลองปราสาทหินพนมรุ้งในขนาดย่อลง 2 ใน 3 ส่วน กลายเป็นสปอร์ตคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ที่ดึงดูดทั้งแฟนกีฬาและนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมในแต่ละสัปดาห์จำนวนมหาศาล

ปราสาทหินพนมรุ้งจำลอง บุรีรัมย์.JPG


การกระจายความเจริญและรายได้ก็เริ่มต้นจากจุดนี้เช่นกัน เมื่อโรงแรมในเครืออมารีที่อยู่ข้างสนาม สร้างเป็นโรงแรมขนาดกลาง สูงเพียง 2 ชั้น และมีห้องจำนวนจำกัดเพียง 60 ห้อง ทำให้นักกีฬา นักท่องเที่ยว และผู้มาเยี่ยมชมจำเป็นต้องหาที่พักอื่นเมื่อมาเยือนบุรีรัมย์ สาเหตุหนึ่งที่โรงแรมหลักของสนามมีขนาดไม่ใหญ่ ไม่ครอบคลุม เพราะกลุ่มทุนผู้สร้างสนาม คือคุณเนวิน ชิดชอบเล็งเห็นว่า หากให้นักท่องเที่ยวหาที่พักอื่นจะช่วยกระจายรายได้สู่ครัวเรือนและธุรกิจรายย่อยได้ สร้างความเจริญและความคึกคักให้กับเมืองโดยรวมมากกว่าการผูกขาดที่พักจากโรงแรมขนาดใหญ่ อีกทั้งปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของตัวจังหวัดที่ใต้ชั้นดินมีชั้นหินภูเขาไฟระดับตื้น ทำให้การสร้างอาคารสูงที่จำเป็นต้องเจาะเสาเข็มขนาดใหญ่และลึกเป็นไปได้ยากและใช้ทุนแพง

บ้านพัก บุรีรัมย์ยูไนเต็ด.JPG

เมื่อธุรกิจโรงแรมที่พักกระจายตัว ก็ตามมาด้วยธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่เข้ามาตอบสนองอุปสงค์สินค้าที่ใช้ และธุรกิจก่อสร้างเป็นห่วงโซ่ นอกจากนี้ ลักษณะวิถีชีวิตของชาวเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปตามสินค้า ทุน สถานที่และกระแสด้านกีฬาที่เกิดขึ้นเป็นทอดๆ

เราจะพบว่าชาวบุรีรัมย์ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมจากสังคมเกษตรกรรมเต็มตัว มีการท่องเที่ยวเป็นเพียงบางช่วงในเทศกาลชมเขาพนมรุ้ง กลายเป็นเมืองแห่งการกีฬาที่มีงานกิจกรรมตลอดทั้งปี ทั้งการเข้าชมและเชียร์สโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ดในฤดูกาลแข่งขันฟุตบอล งานมาราธอนนานาชาติ การแข่งรถ Super GT และ Moto GP อีกทั้งการแข่งขันย่อยในระดับภูมิภาคและภายในจังหวัดผลัดเปลี่ยนกันไปทุกสัปดาห์ ซึ่งทำให้มีกระแสผู้คนเดินทางหมุนเวียนและกระแสเงินใช้จ่ายไม่หยุด 

สนามบอลบุรีรัมย์.JPG


วิถีทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงนี้ทำให้มีคนรุ่นใหม่ที่กล้าลงทุน กล้าใช้จ่าย และใช้ชีวิตของตนเองในแบบที่ต่างไปจากเดิม เช่น เปลี่ยนเด็กแวนซ์ที่บิดรถก่อกวนตามท้องถนนทางหลวงให้กลายเป็นนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ในสนาม เพิ่มความสนใจและความนิยมในการเรียนวิชาช่างยนต์ ช่างเทคนิค และทำให้โรงเรียนอาชีวะมีศักดิ์ศรีมากขึ้น เมื่อเรียนจบก็สามารถเข้าเป็นช่างหรือเปิดกิจการร้านซ่อมและแต่งรถของตนเองได้

มีร้านค้าที่เป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่เปิดขึ้นต่อเนื่องทั้งร้านอุปกรณ์ตกแต่งรถ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ขนมหวาน และสินค้าทันสมัย ผนวกกับห้างสรรพสินค้าทุนใหญ่จากกรุงเทพอย่างโรบินสันมาแข่งขันกับทุนเก่าอย่างทวีกิจพาณิชย์ ในตอนเย็นเราจะพบว่าชาวบุรีรัมย์นิยมออกมาออกกำลังกาย เตะฟุตบอล เข้ายิม ตามสนามฝึกซ้อมต่างๆ ในเมือง หรือพื้นที่สาธารณะที่ปรับปรุงโดยเทศบาลและอบจ. ต่างจากเมืองชนบทแบบเดิมที่มักจะเป็นการสังสรรค์ดื่มเหล้าเบียร์ตามร้านค้า

บุรีรีมย์.JPG


ลักษณะสถาปัตยกรรมของสนามฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ดและสนามแข่งรถ ยังได้ส่งผลกระจายต่อไปยังความนิยมในการก่อสร้างของเมือง โดยอาคาร ร้านค้า และสิ่งก่อสร้างใหม่ นิยมก่อสร้างและตกแต่งในรูปแบบอินดัสเตรียลลอฟท์ ที่ใช้โครงเหล็กและปูนเปลือยเดินสายไฟและหลอดไฟโล่ง ให้กลมกลืนกับตราสัญลักษณ์และธงสโมสร


การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงเมืองด้วยวิสัยทัศน์ด้านกีฬา ผนวกกับการกระจายความเจริญนี้ ทำให้รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของชาวบุรีรัมย์เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 13,742 บาทในปี 2552 ก่อนที่สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์จะเริ่มเปิดสนาม กลายเป็นเดือนละ 18,480 ในปี 2558

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด เพิ่มจาก 61,912 ล้านบาท เป็น 75,031 ล้านบาท

โครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคบริการ

มีการขยายท่าอากาศยานเพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ลง กลายเป็นมี 4 เที่ยวบินต่อวัน

รวมถึงมีการริเริ่มสร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่โดยกลุ่มทุนอื่นเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้แวะชมต่อเนื่อง เช่น สวนพฤกษศาสตร์เพลาเพลิน และการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิมอย่างพุทธอุทยานเขากระโดงให้ทันสมัยและสะอาดสอดคล้องกับภาพรวมของเมือง

บุรีรีมย์.JPG

การพัฒนาแบบกระจายรายได้อย่างทั่วถึงในบุรีรัมย์ เป็นส่วนประกอบของทั้งวิสัยทัศน์ ความทุ่มเท และการใช้อำนาจทางการเมืองอย่างชาญฉลาด โดยใช้การกีฬาและความเร็วเป็นธงนำเพื่อสร้างความมั่งคั่งเปลี่ยนแปลงเมืองและวิถีชีวิตคนอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือในชั่วทศวรรษเดียว สมกับป้ายที่ประกาศอยุ่หน้าสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ว่า “DESTINATION OF SPEED”

สนามรถแข่ง บุรีรัมย์.JPG