ไม่พบผลการค้นหา
ทางการจีนอนุญาตให้ใช้ส่วนประกอบจากเสือและแรดในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยาได้ ส่งผลให้นักอนุรักษ์สัตว์คัดค้าน พร้อมคำวิจารณ์ว่าทำให้การปกป้องสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ถดถอย

รัฐบาลจีนผ่านกฎหมายอนุญาตให้ใช้ส่วนประกอบจากเสือและแรดในผลิตภัณฑ์ที่มี "จุดประสงค์ทางการแพทย์" ซึ่งถือเป็นการยกเลิกคำสั่งห้ามค้ากระดูกเสือและนอแรดระหว่างประเทศที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2536 ส่งผลให้นักเคลื่อนไหวอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่าเป็นความถดถอยในการอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์

แถลงการณ์ของทางการจีนระบุว่า ชิ้นส่วนของเสือและแรดสามารถนำมาใช้ในการวิจัยทางการแพทย์และนำมารักษาคนได้ ตราบใดที่ชิ้นส่วนเหล่านั้นมาจากสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม ไม่ใช่สัตว์ป่า

นอกจากนี้ แพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ในโรงพยาบาลที่ได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้นที่จะสามารถใช้นอแรดและกระดูกเสือแบบผงสำหรับการปรุงยาได้ แต่การค้าผลิตภัณฑ์จากแรดและเสืออย่างผิดกฎหมายจะถูก "ปราบปรามอย่างหนัก" และผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายจะถูกยึด

ที่ผ่านมา กระดูกเสือและนอแรดถือว่ามีคุณประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ ตามตำรับยาจีนโบราณ ทำให้เสือและแรดถูกล่ามาทำยาสมุนไพรจีนจนประชากรทั้งสองชนิดลดลงจนเสี่ยงสูญพันธุ์ จนปี 2536 ทางการจีนสั่งแบนการค้ากระดูกเสือและนอแรด

กระทั่งปี 2553 สมาพันธ์โลกแห่งสมาคมแพทย์แผนจีนได้ออกแถลงการณ์ว่า ไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากระดูกเสือและนอแรดมีสรรพคุณทางการแพทย์ แต่แถลงการณ์ดังกล่าวก็ไม่สามารถหยุดยั้งการค้าชิ้นส่วนของเสือและแรดได้ โดยมีการทำฟาร์มเพาะพันธุ์เสือหลายพันตัว เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยาแพทย์แผนจีน

'ไอริส โฮ' ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจากโครงการและนโยบายด้านสัตว์ป่าของสมาคมมนุษยธรรมนานาชาติ (HSI) ระบุในแถลงการณ์ว่า ประกาศของทางการจีนเป็นเหมือนหมายจับตายแรดและเสือในป่า ถือเป็นการทำลายความพยายามในการปกป้องแรดและเสือจากความโหดร้ายและการสูญพันธุ์ และขอให้รัฐบาลจีนพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ด้านองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เรียกร้องให้ทางการจีนกลับมาแบนการค้าชิ้นส่วนเสือและแรดโดยทันที กฎหมายใหม่จะส่งผลกระทบที่เลวร้ายมากต่อประชากรเสือและแรดที่ต่ำมาก จนอาจนำไปสู่การซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย โดยนำผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมายบังหน้า และจะยิ่งทำให้มีคนต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากเสือและแรดมากขึ้น

สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า ช่วง 3-4 ปีก่อน ราคานอแรดพุ่งสูงถึง 65,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.1 ล้านบาทต่อกิโลกรัม แพงกว่าทองคำและงาช้างหลายเท่า ดังนั้น นอแรดจึงเหมือนส่วนประกอบอาหารว่างของชนชั้นนำ แม้นอแรดจะเป็นเคราตินเหมือนกับเส้นผมและเล็บของมนุษย์ก็ตาม และหากมีการเปิดให้ค้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย อุปสงค์ของผู้บริโภคก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากด้วย


ที่มา : CNN, Business Insider