ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มีคำสั่งแจ้งไปยังระดับผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับกองร้อย หัวหน้าฝ่ายอำนวยการขอให้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะสวมเครื่องแบบทุกชนิด กับท่าต้องห้าม 6 ท่า ได้แก่ 1.กุมมือ 2.กอดอก 3.ล้วงกระเป๋า 4.เท้าสะเอว 5.ไขว้หลัง 6.ไขว่ห้าง
รวมถึงการติดเครื่องหมายแสดงความสามารถ ห้ามซื้อมาติดเอง ต้องสำเร็จตามหลักสูตรจริงเท่านั้น
อีกทั้งงดใส่แหวน สายสิญจน์หรือสร้อยข้อมือ ส่วนการสวมนาฬิกาสามารถใส่ได้ แต่ต้องไม่สีฉูดฉาดหรือใส่เพื่อแสดงถึงฐานะ รวมถึงสร้อยคอก็สามารถสวมได้ แต่ต้องไม่สั้นขึ้นมาให้เห็นอยู่บนเสื้อ และต้องไม่ใส่เพื่อแสดงถึงฐานะเช่นกัน
ทั้งนี้ผู้บังคับบัญชาในกรมจะไม่ลงไปตรวจที่หน่วยแบบจ้องจับผิด แต่หากตรวจพบโดยบังเอิญ จะถือว่าผู้บังคับบัญชาโดยตรงของกำลังพลนั้น ปล่อยปละละเลย สำหรับกำลังพลที่กระทำผิดระเบียบจะส่งไปเข้าฝึกทบทวน และให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงเป็นผู้ฝึก
ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมนอกรั้ว ทบ. ตามมาถึงระเบียบที่เข้มงวดเช่นนี้ จากนั้นทาง ทบ. ได้ออกมาระบุว่าข่าวดังกล่าวเป็น ‘เฟกนิวส์’
โดย พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ผบ.ทบ.ไม่ได้มีสั่งการใดๆ โดย ทบ. มีระเบียบการแต่งกาย - การประพฤติตน ขณะสวมเครื่องแบบทหารเป็นภาพรวม ‘ไม่ได้มีคำสั่งเฉพาะเจาะจง’ ในเรื่องใด โดยการแต่งเครื่องแบบต้องเป็นไปตามระเบียบ แบบธรรมเนียม เหมาะสมกับสถานที่ราชการ ซึ่ง ผบ.ทบ. มีนโยบายและได้กำชับหน่วยงานของ ทบ. อยู่เสมอ ให้กำลังพลแต่งกายตามระเบียบอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้มีรายงานอีกว่า คำสั่งเรื่อง 6 ท่าต้องห้ามนั้น ไม่ได้เป็นคำสั่งใหม่ แต่เป็นแบบธรรมเนียมเดิมของ ทบ. ที่มีอยู่แล้ว แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวเพราะมีการนำมาย้ำเตือนกำลังพลอีกครั้ง โดยสรุปความจากที่ ผบ.ทบ. กำชับผู้บังคับบัญชาด้วยวาจาให้กำชับกำลังพล เรื่องการประพฤติตนขณะสวมเครื่องแบบทหาร หลัง ผบ.ทบ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของทหารในพื้นที่ต่างๆ
อย่างไรก็ตามระเบียบของ ทบ. ที่เข้มงวดก็มีผล 2 ด้าน ได้แก่ ระเบียบที่เข้มงวดนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจสมัครรับราชการทหารของบุคคลพลเรือน เป็นต้น
แต่อีกด้านระเบียบที่เข้มงวดเช่นนี้ ก็ทำให้ได้ ‘คัดกรองบุคคล’ ที่จะมาเป็นทหารเช่นกัน เพื่อป้องกัน ‘การสร้างอิทธิพล’ผ่านเครื่องแบบ รวมทั้งป้องกันผู้ใช้เครื่องแบบทหารไปแสวงหาประโยชน์ต่างๆ ไปในตัวด้วย
ซึ่งความเป็นทหารนั้น ‘ระเบียบวินัย’ และ ‘ร่างกายที่แข็งแรง’ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่แพ้ ‘ความรู้-ความสามารถ’ ในการทำงานหน้าที่ต่างๆ ที่กองทัพให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังพลให้รอบด้าน
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้มีนโยบายตั้ง ‘ศูนย์ธำรงวินัย’ ของ ทบ. ขึ้นมา โดยตั้งผ่านมณฑลทหารบกที่ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งบางมณฑลทหารบกจะดูแลพื้นที่หลายจังหวัด
อีกทั้งแต่ละกองทัพภาคจะมี ‘ศูนย์ธำรงวินัยกลาง’ ขึ้นมาคุมอีกชั้น เช่น กองทัพภาคที่ 1 คือ พล.ม.2 รอ. , กองทัพภาคที่ 2 คือ มณฑลทหารบกที่ 21 เป็นต้น เพื่อ ‘ปรับปรุงวินัยทหาร’ ไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งป้องกันการปกปิดความผิดกันเองด้วย
โดยศูนย์ธำรงวินัย ทบ. จะใช้ปรับปรุงวินัยทหารทุกชั้นยศตั้งแต่ ‘นายพล’ ถึง ‘จ่า-นายสิบ’ ไม่มีแบ่งแยก โดยผู้ที่ถูกปรับปรุงวินัยจะสวมชุดสนามและหมวกสีแดง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าถูกลงโทษ โดยล้อมาจากแบบแผนของทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) ในโรงเรียนวังทวีวัฒนา หรือที่เรียกว่า ‘ทหารคอแดง’
แต่ศูนย์ธำรงวินัย ทบ. จะแยกออกจาก ‘ทม.รอ.’ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหลักสูตรที่ใช้ปรับปรุงวินัย โดยของ ศูนย์ธำรงวินัย ทบ. ได้มีการกำหนดหลัดสูตรขึ้นมาใหม่
ภายหลังการถูกลงโทษตามกฎการลงทัณฑ์ 5 สถาน ตามฐานความผิด พ.ร.บ. วินัยทหาร ได้แก่
1. ภาคทัณฑ์หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้
2. ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ
3. กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตาม แต่จะกำหนดให้
4. ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง
5.จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร
เมื่อพ้นจากการลงโทษ ‘ทัณฑ์ 5 สถาน’ ก็จะเข้าสู่ศูนย์ธำรงวินัย ทบ. ในการเข้ารับการปรับปรุงวินัย เช่น การฝึกท่ามือเปล่า , การฝึกท่าอาวุธ , การฝึกเรียกแถว , การฝึกออกกำลัง , การแบกเป๊ทหารพร้อมเครื่องสนาม เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มี ‘นายทหาร’ ถูกปรับปรุงวินัยแล้ว
ก่อนหน้านี้ ทบ. ได้มีการติดป้ายดูกันเองภายในหน่วย ในลักษณะเช่นเดียวกับ 6 ท่าต้องห้าม แต่เป็นเรื่อง ‘วินัยทหาร 9 ข้อ’ เพื่อให้กำลังพลตระหนักอยู่เสมอ ได้แก่
1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
6. กล่าวคำเท็จ
7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นใน ทบ.ล่าสุด จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ที่จะมีการ ‘กำชับย้ำเตือน’ กำลังพลให้ตระหนักในเรื่อง ‘ระเบียบวินัย’ ออกมา จึงทำให้กำลังพลในยุคนี้ต่างๆระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ ทั้งขณะอยู่ในและนอกเครื่องแบบ ในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ
รวมทั้งพื้นที่ในโซเชียลฯ อีกทั้งทำให้ทหาร ‘โลว์โปร์ไฟล์’ ตัวเองมากขึ้นในยุคนี้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง