ไม่พบผลการค้นหา
ขณะที่รัฐบาลหวังผลักดัน 5จี ด้วยการเร่งประมูลคลื่นความถี่ เอกชนออกมาแสดงความกังวลถึงความไม่พร้อมและผลกระทบที่อาจตามมา

การจะทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลจึงต้องการผลักดันให้ประเทศไทยมี 5จี ด้วยความรวดเร็ว จำเป็นต้องย้อนกลับมาดูศักยภาพของ '5จี' และสภาพกาารแข่งขันของตลาด '5จี' ทั่วโลกกันก่อน

แท้จริงแล้ว 5จี หรือ 5G ย่อมาจาก 5th Generation of cellular network หรือระบบเครือข่ายการเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเซลลูลาร์รุ่นที่ 5 ซึ่งก็แน่นอนว่า พอเป็นรุ่นใหม่ขึ้นก็ย่อมมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยนักวิจัยและพัฒนาต่างชี้ว่า 5จี จะมอบความรวดเร็วในการสื่อสารของสัญญาณได้ดีกว่ารุ่นก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดหนังได้ไวขึ้น หรือไลฟ์เฟซบุ๊กแล้วไม่กระตุก ความสามารถเหล่านี้ยังต่อยอดไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการความสามารถเหล่านี้มาปรับใช้กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

ประเทศผู้นำ 5จี ของโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ หรือหลายประเทศในทวีปยุโรป เริ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการมาถึงของ 5จี กันในวงกว้าง ขณะที่บริษัทเอกชนผู้พัฒนาสารกึ่งตัวนำและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งก็เดินหน้าพัฒนาชิปที่มีศักยภาพรองรับสัญญาณ 5จี เช่นเดียวกัน

ล่าสุดสำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า 'ควอลคอมม์' บริษัทผู้พัฒนาชิป สัญชาติอเมริกัน ประเมินว่า สมาร์ตโฟนราคาสูงภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะสามารถรองรับสัญญาณ 5จี ได้ทั้งหมด โดย 'คีธ เครสซิน' รองประธานอาวุโสฝ่ายการพัฒนาสินค้าของควอลคอมม์ กล่าวว่า "ในปี 2563 ด้วยมูลค่าที่มันจะสร้างได้ ชิปในระดับสูงที่เราขายให้ลูกค้าของเราทั้งหมดจะรอบรับ 5จี ได้ ดังนั้น มันก็หมายความว่า สมาร์ตโฟนรุ่นสูงๆ ทั้งหมดจะรองรับ 5 จี"

ตัวเลขประเมินการส่งมอบสมาร์ตโฟนที่รองรับ 5จี ในปี 2563 ของควอลคอมม์อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านเครื่อง ขณะที่ 'เจ. พี. มอร์แกน' บริษัทให้บริการด้านการเงินประเมินไว้ที่ 229 ล้านเครื่อง และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 462 ล้านเครื่อง ในปี 2564 

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าในวงการโทรคมนาคม 5จี กำลังมา และกำลังมาอย่างรวดเร็วด้วย ไม่ต้องเดาให้ยุ่งยากก็มองออกว่า คลื่นแห่ง 5จี นี้จะมาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่ด้วยศักยภาพที่สามารถนำไปใช้ได้มากกว่าแค่การสื่อสารของผู้บริโภค สิ่งนี้จะมอบโอกาสให้กับอุตสาหกรรมหลากหลาย และนั่นก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาประเทศของไทยเช่นเดียวกัน

รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการจะพาประเทศไทยก้าวข้ามให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ไทยย่ำอยู่มานานเหลือเกิน และมองว่าการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศจะเป็นคำตอบที่ดี โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกหยิบยกมาพูดเสมอว่าจะเป็นตัวช่วยของประเทศ จะทำให้รอดพ้นจากสิ่งที่เป็นอยู่ 

อีอีซี เป็นสถานที่ที่รัฐบาลสร้างขึ้นมารองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ถึง 10 ประเภท ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 6. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9. อุตสาหกรรมดิจิทัล 10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนได้ประโยชน์จาก 5จี ด้วยกันทั้งสิ้น

สามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่า 5จี เป็นสิ่งที่สำคัญต่อทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนและคุณภาพเศรษฐกิจของประเทศที่สุดท้ายก็กลับไปสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอยู่ดี ดังนั้น การที่รัฐบาลจะเร่งให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐาน 5จี หรือการเร่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เข้ามาพัฒนาสินค้าและบริการ 5จี ก็ดูเป็นเรื่องไม่ผิดแปลกอะไร หากทุกอย่างมีการวางแผนอย่างชัดเจนและเป็นระบบ

รีบ-เร่ง-อาจไม่เรียบร้อย

ในการพัฒนาสัญญาณ 5จี นั้น จำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ในกรณี 5จี ของไทย รัฐบาลไม่ได้มีงบประมาณไปลงในการพัฒนาเสาสัญญาณต่างๆ ภาระเหล่านั้นจึงต้องตกเป็นของเอกชนที่พึ่งทุ่มเงินประมูล 4จี ไปในปี 2558

อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการผลักดันให้มี 5จี ใช้อย่างรวดเร็ว สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลคลื่นความถี่ที่จะใช้ในเชิงพาณิชย์จึงกดดันแกมบังคับเอกชนให้ต้องเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 

และแม้ความต้องการสูงสุดจะเป็นไปเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ความไม่ชัดเจน ไม่เรียบร้อย และอาจจะไม่เหมาะสมมาก ก็อาจะเป็นอุปสรรคขัดแข้งขัดขาไม่ให้ไทยไปถึง 5จี ที่ยั่งยืนแบบที่รัฐบาลต้องการได้เช่นเดียวกัน 

'มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค แสดงความกังวลถึงอุปสรรค 3 ข้อ ที่ควรแก้ไขก่อนมีการประมูลในปีหน้า ประกอบไปด้วย (1) การจัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสม (2) การกำหนดราคาคลื่นความถี่ และ (3) การกำหนดวิธีและหลักเกณฑ์การประมูล

ตามประกาศของ กสทช. มีคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ย่านจะถูกนำมาประมูลในครั้งนี้ ได้แก่ ย่าน 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่ง 'มาร์คุส' ชี้ว่า จากคลื่นทั้ง 4 ที่มีในการประมูล มีเพียงย่าน 2600 MHz เท่านั้น ที่เอกชนสามารถนำมาพัฒนนาให้บริการ 5จี ได้จริงในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ดีแทค ต้องการเสนอให้การประมูลครั้งนี้รอจนกว่า กสทช. จะสามารถนำย่าน 3500 MHz เข้ามารวมในการประมูลด้วย เนื่องจาก ย่าน 3500 MHz เป็นช่วงคลื่นที่มีการใช้เพื่อพัฒนาสัญญาณ 5จี อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยตามข้อมูลรายงานจากอีริคสัน ณ เดือนตุลาคม 2562 พบว่า มีผู้ให้บริการเพียง 2 ราย จากทั่วโลกเท่านั้นที่ให้บริการอยู่บนช่วง 2600 MHz ขณะที่รายอื่นๆ ล่วนให้บริการอยู่บนช่วง 3500 MHz ทั้งนั้น

'มาร์คุส' ชี้ว่า ข้อดีของการรอการประมูลที่สามารถรวมคลื่น 3500 MHz ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ภายใต้บริษัทไทคมและกำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. 2564 มาประมูล จะช่วยลดต้นทุนเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ของเอกชนได้ เนื่องจากหลายบริษัททั่วโลกใช้คลื่นย่านนี้ ราคาอุปกรณืที่เกี่ยวข้องจึงไม่สูงมากนัก อีกทั้งการประมูลคลื่นในย่าน 2600 MHz ที่ กสทช. กำหนดเพดานไว้ที่ 190 MHz และอนุญาตให้เอกชนประมูลได้สูงสุด 10 ล็อต โดย 1 ล็อตมีจำนวน 10 MHz อาจก่อให้เกิดดารบิดเบือนของตลาดได้ หากมีเอกชนที่ไม่สามารถประมูลได้ และผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน ดังนั้น การรอให้สามารถนำคลื่น 3500 MHz ที่มีเพดานอยู่ที่ 300 MHz มาประมูล จะเป็นการกำจัดปัญหาดังกล่าวได้ 

ประเด็นที่สอง ในเรื่อง 'ราคา' เป็นภาระที่เอกชนมีความกังวลไม่น้อยไปกว่าเพดานจำกัดของย่านคลื่น แม้จะมีการปรับราคาลงมาจากการประมูล 4จี ครั้งก่อน แต่เมื่อเทียบกับราคากลางทั่วโลก ราคาประมูลคลื่นของไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นอีกมาก ตามรายงานของ GSMA ราคาประมูลคลื่นในย่าน 700 MHz และ 2600 MHz สูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยราคา 8,792 ล้านบาท / ล็อต และ 1,862 ล้านบาท / ล็อต ตามลำดับ ขณะที่ราคาในย่าน 1800 MHz สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยราคา 12,486 ล้านบาท ส่วนราคาประมูลในย่าน 26 GHz มีราคา 423 ล้านบาท / ล็อต และอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก

ด้วยราคาสูงขนาดนี้ 'มาร์คุส' ชี้ว่า เอกชนจำเป็นต้องแบกต้นทุนมหาศาล และจะส่งผลต่อการไปลงทุนเรื่องเสาสัญญาณอย่างแน่นอน ทำให้เอกชนไม่สามารถปล่อยผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างรวดเร็วอย่างที่รัฐบาลวางแผนไว้ พร้อมชี้ว่า หาก กสทช. สามารถกลับมาประเมินการตั้งราคาใหม่ที่ช่วยไม่ให้เอกชนต้องแบกภาระมากนักก็จะเป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภคเอง 

ประเด็นสุดท้ายในความกังวลของดีแทค คือวิธีการประมูลที่ กสทช. เลือกใช้แบบประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน (Simultaneous Ascending Clock Auction) ซึ่งเป็นการประมูลที่เอกชนต้องประมูลจำนวนล็อตที่ต้องการก่อน แล้วจึงจะสามารถไปประมูลช่วงคลื่นของตัวเองอีกที ซึ่งในกรณีของย่าน 2600 MHz ปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่ามีคลื่นประมาณ 20 MHz ไม่สมบูรณ์เพราะยังมีผู้ใช้งานยู่ ดังนั้นจึงเหมือนเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมกับผู้ที่จะได้คลื่นช่วงนี้ไป เพราะอาจจะต้องรับภาระพัฒนา 5จี บนช่วงคลื่นที่มีการรบกวนและมีข้อจำกัดในการใช้งาน 

เมื่อวนกลับเข้ามาดูภาพรวม การพัฒนา 5จี ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญกับเศรษฐกิจและประชาชนจริง แต่การเร่งผลักดัน 5จี ท่ามกลางความไม่พร้อมของทั้งเอกชนและรัฐบาลเอง อาจกลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;