ไม่พบผลการค้นหา
ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ และพบกับตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเขาค้อ ผู้ที่กำลังต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในผู้หญิงชาวม้ง คือวัฒนธรรม "ผิดผี" ที่เป็นการตีตราผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกในชีวิต และต้องอยู่ในภาวะยอมจำนนต่ออำนาจของผู้ชาย

หลังจากที่สภาได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการแล้ว ฉันซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ที่ชัดเจนและกว้างขึ้น และรัฐสภาก็ทำงานเต็มระบบมากขึ้น ฉันได้นั่ง "คณะกรรมธิการกิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ" และหน้าที่ของคณะกรรมธิการ คือ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การตรวจสอบสืบค้น การศึกษาปัญหาและหาข้อเสนอแนะสู่สภา รวมถึงการร่วมมือประสานงานกับภาคประชาชน รวมถึงองค์กรต่างๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญเดิม รัฐธรรมนูญปี 60 มีข้อกำหนดหลายอย่างที่ทำให้การทำงานมีข้อจำกัด เช่น การตั้งอนุกรรมาธิการนั้น มีข้อกำหนดที่สามารถทำได้เพียง 2 วง เท่านั้นและมีระยะเวลากำหนด จะเพิ่มวงการศึกษาปัญหาต่าง ๆ จะกระทำได้ต้องผ่านประธานสภา ในความคิดฉันปัญหาที่มีมากอยู่ตอนนี้ น่าจะทำให้การแก้ไขปัญหา และเสนอแนวทางช้าลง 

สส.jpg


ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันได้ลงพื้นที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาของกลุ่มชาติพันธ์ ม้ง ปกาเกอะญอ ลีซอ เมี่ยน อาข่า แต่ในประเด็นเรื่องผู้หญิงที่ฉันรับฟังจากกลุ่มแม่บ้านเขาค้อที่มีผู้นำหญิงชื่อ "รัชดา" ที่กำลังต่อสู้ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในผู้หญิงชาวม้ง คือวัฒนธรรม "ผิดผี" ที่เป็นการตีตราผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงชาวม้งไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้ เพราะวัฒนธรรม "ผิดผี" ของชาวม้งนั้น ทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกในชีวิต และต้องอยู่ในภาวะยอมจำนนต่ออำนาจของผู้ชาย

ฉันได้มีโอกาสฟังผู้หญิงชาวม้ง ที่ออกมาเล่าเรื่อง "วงจรชีวิต" ที่ตีกรอบผู้หญิงตั้งแต่เกิด จน ตาย หากหญิงใดที่เดินออกนอกเส้นที่ถูกวางไว้ ก็จะถูกมองว่า "ผู้หญิงผิดผี" เริ่มตั้งแต่เกิดที่พ่อแม่จะได้ลูกชาย หรือ ลูกสาว ก็มีความดีใจแตกต่างกัน จนมีวัฒนธรรมที่ขอรกเด็กผู้ชายในขณะเกิดไปฝังที่เสาบ้านเป็นความเชื่อต่อๆ กันมาว่าเป็นมงคล ในขณะที่รกของเด็กหญิงที่เกิดมากลับให้นำไปทิ้ง มันอาจฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระเวลาที่เราได้ยิน แต่มันเป็นจุดสำคัญที่เป็น "ต้นกำเนิด" ความคิดที่ไม่เท่าเทียม เพราะต่อมาในวัยเด็ก ผู้หญิงจะถูกให้ทำงานหลายอย่าง ในขณะที่เด็กผู้ชายสามารถเที่ยวเล่นได้ตามใจ รวมถึงโอกาสทางการศึกษา ผู้ชายถูกส่งเสริมสนับสนุนจากครอบครัว ในขณะที่ผู้หญิงไม่ต้องเรียนเพราะจะต้องรีบแต่งงาน และก็มีลูก แล้วทำงานบ้านให้ผู้ชาย ส่วนมากชาวม้งแต่งงานกันก่อนอายุ 20 ปี 

"หลายรายอายุน้อยมากจนฉันไม่อยากจะเขียนลงมาในคอลัมน์นี้ เพราะมันอาจจะผิดกฎหมาย"

เมื่อผู้หญิงแต่งงานออกจากบ้านพ่อแม่ตนเองแล้วต้องไปอยู่กับสามี สินสอดที่ฝ่ายชายต้องมอบให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงอยู่ที่ 65,000 บาท เป็นจำนวนกลางที่ผู้หญิงเผ่าม้งเล่าให้ฟัง ฉันไม่ได้รู้สึกถึงคุณค่าผู้หญิงผ่านตัวเลขเสียเท่าไหร่ เพราะความรวย ความจน ความรัก มันวัดกันไมได้ แต่ที่ฉันรู้สึกแย่คือ "มีราคากลางด้วยหรือ" นั่นหมายถึงตัวเลขไม่ได้ถูกกำหนดด้วยความรักความเข้าใจ แต่ถูกกำหนดด้วยราคาเหมารวมคุณค่าผู้หญิง

เมื่อเข้าไปอยู่บ้านผู้ชายต้องอยู่ในสถานะที่ไม่มีปากมีเสียง แสดงความคิดเห็นไม่ได้ นั่งแยกโต๊ะอาหารกับผู้ชายอันนี้ซึ่งพัฒนามาแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ต้องทานของเหลือจากผู้ชาย คือให้ผู้ชายทานข้าวเสร็จแล้วตนเองจึงมีสิทธิทานได้ และผู้ชายสามารถพาผู้หญิงเข้าบ้านแต่งงานมานั่งเสมอกัน คำถามคือมีผู้หญิงคนไหนจะทนได้ นี่คือลายมือของผู้หญิงม้งที่เขียนบนกระดานให้ฉันอ่าน

"ผู้ชายสามารถทำเช่นไรกับผู้หญิงก็ได้ มีเมียน้อยได้ ส่งคืนผู้หญิงได้ ตีได้"

ธัญวัจน์.jpg


ความไม่เป็นธรรมนี้ยังคงอยู่ และวัฒนธรรม "ผิดผี" ก็เกิดมาจากเมื่อผู้หญิง ไม่สามารถทนอยู่ในการกดขี่ของสังคมนิยมชายได้แล้ว หากต้องการหย่าก็ต้องหาเงินสินสอด 65,000 บาทมาคืน และต้องไปแต่ตัวไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัติใดๆ รวมถึงการหย่านั้นถือว่าเป็นหญิง "ผิดผี" ผู้หญิง ไม่สามารถคืนกลับสู่บ้านของตนเองได้ แม้เวลาป่วยก็ต้องนอนนอกบ้าน ทำพิธีศพก็ต้องทำนอกบ้าน ในขณะที่ผู้ชายพิธีศพทำในบ้าน นี่คือวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้หญิงไม่มีเส้นทางเดินของตนเอง หรือไม่กล้าตัดสินใจใดๆ เพราะเกรงสังคมจะลงโทษ และต้องยอมจำนนอยู่ในสถานการณ์ที่ตนเองไม่มีความสุข

วันต่อมาฉันได้มีโอกาสเดินทางไป อบต.เข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้พบกับท่านนายก อบต. สุวิทย์ แสนยากุล ท่านเล่าให้ฟังว่าคุณแม่ท่านก็เลี้ยงผมมาคนเดียว ท่านเชื่อในพลังของผู้หญิง และท่านกับคุณแม่ก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ฉันเข้าใจได้ดีว่าคุณแม่ของท่านเด็ดเดี่ยวแค่ไหน ที่ตัดสินใจละทิ้งความเชื่อบางอย่างของชาวม้ง 

ม้ง.jpg


ในการพูดคุยปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องการทำไร่หมุนเวียน ประเด็นผู้หญิงชาวม้งถูกหยิบยกขึ้นมา และในฐานะผู้แทนราษฎร ฉันต้องแสดงความเห็นบางอย่าง และฉันรู้ดีว่าผู้หญิงม้ง ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากโครงสร้างบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้ เพราะประมวลแพ่งพาณิชย์หมวดสมรสนั้น มีการบัญญัติเหตุอันควรที่จะฟ้องหย่าได้ และหากหญิงม้งเข้าถึงกฎหมายก็จะได้รับความเป็นธรรม 

"เรียกร้อง การกระทำกดขี่ ตีตรา ละเมิดความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงต้องหยุดลงทันที เพราะทุกวันนี้ผู้หญิงใช้ชีวิตด้วยความเจ็บปวด

เราจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงม้งเข้าถึงกฎหมาย อยากให้นายกช่วยเหลือหรือหาแนวทาง ปัญหาของผู้หญิงม้งคือความจำเป็นและเร่งด่วน ในฐานะมนุษย์ที่มีชีวิต เลือดเนื้อ รอยยิ้ม และน้ำตา 

ธัญไม่ได้แสดงความเห็นใจใดๆ ในวัฒนธรรมผู้หญิงถูกกดขี่ แต่ธัญเห็นใจว่าทำไมเราจึงมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน"

หลังจากฉันให้ความเห็นทุกคนเห็น บางคนอึดอัด ไม่สบายใจกับคำพูดบางคำของฉัน แต่ผู้หญิงยิ้มแก้มปริ ภายหลังงานเข้ามาจับมือขอบคุณที่พูดตรงๆ ให้เขารู้ว่าคนนอกเขาคิดอย่างไร ฉันรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องร่วมมือทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และ เพศหลากหลายอย่างฉัน และต้องทำให้กฎหมายได้บังคับใช้ และต้องสร้างความเข้าใจว่าทุกวัฒนธรรมบนโลกใบนี้

"ลื่นไหล และเปลี่ยนแปลงได้เสมอ"

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ครูธัญ - ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ นักเต้น นักออกแบบท่าเต้น นักกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ และสส ปาร์ตี้ลิส ลำดับที่ 25 พรรคอนาคตใหม่
1Article
0Video
14Blog