ไม่พบผลการค้นหา
ธปท.เผยลูกหนี้ร้อยละ 28 'โครงการคลินิกแก้หนี้' เข้าร่วมมาตรการเลื่อนส่งงวดผ่อนชำระหนี้ -ปรับลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 2 แจงช่วยจูงใจผู้ร่วมโครงการส่วนใหญ่จ่ายหนี้ได้ดี ไม่เพิ่มตัวเลขหนี้เสียให้สถาบันการเงิน

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ที่ออกมาเมื่อเดือน มี.ค. 2563 ที่ประกอบด้วย การผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนงวดชำระ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือนในช่วง เม.ย. - ก.ย. 2563 และการปรับลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 2 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และจูงใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการจ่ายค่างวดอย่างต่อเนื่อง โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้เหลือเพียงร้อยละ 2-3 นั้น

ถึงเวลานี้นับว่าผลของมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวถือว่าน่าพอใจ เนื่องจากไม่มีลูกหนี้ต้องออกจากโครงการ ด้วยเหตุว่าผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว แม้สักรายเดียว พร้อมแจงเพิ่มว่า จากมาตรการดังกล่าวนั้น มีลูกหนี้เพียงร้อยละ 28 เท่านั้น ที่เลือกรับความช่วยเหลือ

ขณะที่ลูกหนี้ที่เหลืออีกร้อยละ 72 ยังจ่ายค่างวดเข้ามาตามปกติ โดยในจำนวนนี้ลูกหนี้ร้อยละ 18 ชำระเข้ามามากกว่าค่างวด ส่วนลูกหนี้ส่วนใหญ่คือร้อยละ 52 จ่ายค่างวดได้ครบ และมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่จ่ายชำระได้เพียงบางส่วน

ธปท
  • ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผู้ช่วยผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำว่าการออกแบบมาตรการช่วยเหลือนี้จะยึดลูกหนี้เป็นที่ตั้งคือ คำนึงถึงปัญหา ความเดือดร้อน และข้อจำกัดของลูกหนี้ ช่วยให้โครงการสามารถตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ทุกราย ทั้งรายที่ผ่อนไม่ไหวในช่วงนี้ และรายที่สามารถจ่ายเข้ามาก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลง ขณะเดียวกันก็ช่วยตอบโจทย์เจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีลูกหนี้ที่ต้องกลายเป็นหนี้เสีย และลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่มีความสามารถยังผ่อนชำระเข้ามาต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ประชาชนที่มีหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่สมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ในช่วง เม.ย. - ก.ย. 2563 จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ยร้อยละ 2 เช่นกัน

พร้อมกันนี้ยังระบุว่า อัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2-3 ถือว่าผ่อนปรนมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยบัตรปกติที่ร้อยละ 18

"วิกฤตโควิด 19 ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือ ผ่อนปรนซึ่งกันและกัน และการที่สถาบันการเงินและลูกค้าสามารถปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน จะเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากในระยะข้างหน้า" นางธัญญนิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพ.ค. 2563 โครงการคลินิกแก้หนี้ สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้วกว่า 21,000 ใบ ครอบคลุมลูกหนี้ 4,204 ราย ซึ่งมีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 5 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 340,000 บาท และมีลูกหนี้ที่รอลงนามในสัญญาอีกกว่า 800 ราย เนื่องจากไม่สามารถเดินทางช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และอีก 1,500 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลกับสถาบันการเงิน คาดว่าครึ่งแรกของปี 2563 ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการจะเกิน 5,000 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :