ไม่พบผลการค้นหา
ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นหลายฉบับของญี่ปุ่นระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจขอให้ศาลมีคำสั่งยุบโบสถ์แห่งความสามัคคี หลังจากการลอบสังหาร ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว

ตามรายงานของสำนักข่าวเกียวโด ซึ่งอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อในรัฐบาล ระบุว่า โบสถ์แห่งความสามัคคี ซึ่งมีชื่อที่เรียกสมาชิกของลัทธิว่า มูนีส์ อาจถูกศาลญี่ปุ่นสั่งให้ยุบองค์กรลงให้เร็วที่สุดในเดือนหน้า ระหว่างการสอบสวนเกี่ยวกับกิจกรรมการระดมทุน ที่เป็นข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในลัทธิดังกล่าว ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน รายงานอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ข้อยุติว่า การยุบโบสถ์แห่งความสามัคคีมีความเหมาะสม เนื่องจากโบสถ์แห่งนี้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีความ "ชั่วร้าย กระทำเป็นระบบ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง" อันเป็นการกระทำที่มากเกินกว่าการมีเสรีภาพทางศาสนา ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไมนิจิชิมบุน ภายใต้กฎหมายนิติบุคคลทางองค์กรศาสนาของญี่ปุ่น ศาลญี่ปุ่นสามารถออกคำสั่งยุบองค์กรใดๆ ได้ หากองค์กรนั้นได้กระทำการอัน “ได้รับการยอมรับอย่างชัดเจนว่า เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของสาธารณชนอย่างร้ายแรง” ทั้งนี้ องค์กรทางศาสนาต่างๆ ที่ถูกศาลญี่ปุ่นสั่งยุบ จะถูกเพิกถอนสถานะนิติบุคคลทางองค์กรศาสนา และสูญเสียการยกเว้นภาษีนิติบุคคลและภาษีทรัพย์สิน รวมถึงภาษีจากรายได้การเสนอขายทางการเงิน 

อย่างไรก็ดี องค์กรทางศาสนานั้นๆ สามารถกลับมาดำเนินการในสถานะองค์กรศาสนาองค์กรใหม่ได้ โดยตามการระบุของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นนั้น หลังจากที่ลัทธิโอมชินริเกียวสูญเสียสถานะเป็นนิติบุคคลทางองค์กรศาสนาไปในปลายปี 2538 ลัทธิดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นลัทธิอาเลฟ และยังคงเปิดรับสมัครสมาชิกและขอรับบริจาคต่อไปได้

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการสอบสวนคริสตจักรโบสถ์แห่งความสามัคคีแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อสหพันธ์ครอบครัวเพื่อสันติภาพและความสามัคคีโลก ในข้อสงสัยเกี่ยวกับกิจกรรมระดมทุน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้เผชิญหน้ากับเรื่องอื้อฉาว เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกลุ่มกับนักการเมืองญี่ปุ่น โดยเฉพาะสมาชิกของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่เป็นพรรครัฐบาลกับโบสถ์แห่งความสามัคคี

ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อาจมีความหวังว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ จะระงับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างพรรค LDP ของเขา กับโบสถ์แห่งความสามัคคี ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์อาซาฮีระบุว่า ในช่วงหลายเดือนหลังการเสียชีวิตของอาเบะ สื่อได้เปิดเผยหลักฐานว่านักการเมืองพรรค LDP และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านจำนวนน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล มีความผูกพันกับโบสถ์แห่งความสามัคคี ตั้งแต่การกล่าวสุนทรพจน์ในงานกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักร ไปจนถึงการเกณฑ์ผู้ติดตามให้ทำงานรณรงค์การเลือกตั้ง

ยังมีรายงานอีกว่า สมาชิกพรรคของคิชิดะบางคน กล่าวเตือนไม่ให้มีการยุบโบสถ์แห่งความสามัคคี ด้วยความกังวลที่ว่า รัฐบาลอาจถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของประชาชน

โนบุสุเกะ คิชิ ปู่ของอาเบะ ซึ่งเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ช่วยโบสถ์แห่งความสามัคคี ซึ่งเป็นคริสตจักรอนุรักษ์นิยมแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1960 อย่างไรก็ดี อาเบะถูกยิงเสียชีวิตในเดือน ก.ค. 2565 ด้วยฝีมือของ เท็ตสึยะ ยามากามิ มือปืนที่อ้างสาเหตุของการลงมือลอบสังหารอาเบะว่า เขาเก็บงำความแค้นใจต่อโบสถ์แห่งความสามัคคีและอาเบะ 

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีต่อยามากามิในข้อหาฆาตกรรมและข้อกล่าวหาอื่นๆ จะเริ่มขึ้นในช่วงปีหน้า โดยมีรายงานว่ายามากามิให้การกับตำรวจว่า เขามุ่งเป้าการสังหารไปที่อาเบะ ด้วยการยิงด้วยระเบิดทำเองระยะใกล้ กลางการชุมนุมหาเสียงของอาเบะ เนื่องจากครอบครัวของอาเบะมีความผูกพันกับกลุ่มมูนีส์

ยามากามิ ซึ่งเข้ารับการประเมินทางจิตเวชเป็นเวลานานหลายเดือน กล่าวโทษว่าโบสถ์แห่งความสามัคคีทำให้ครอบครัวของเขาล้มละลาย หลังจากที่แม่ของเขาซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่ง บริจาคเงินมากกว่า 100 ล้านเยน (ประมาณ 24 ล้านบาท) ให้กับทางลัทธิเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ดี อาเบะไม่ได้เป็นสมาชิกของโบสถ์แห่งความสามัคคี แต่เขาได้เคยส่งข้อความผ่านวิดีโอแสดงความยินดีไปยังคริสตจักรในเครือ เมื่อช่วงปลายปี 2564 โดยในเนื้อหาวิดีโอ อาเบะกล่าวว่าเขาแบ่งปันความเชื่อ ในเรื่องค่านิยมของครอบครัวแบบดั้งเดิมร่วมกับทางคริสตจักร

จากคำให้การของอดีตสมาชิกลัทธิ คำตัดสินของศาลในคดีแพ่ง และเอกสารของคริสตจักร แสดงให้เห็นว่าโบสถ์แห่งความสามัคคีเรียกร้องการบริจาคทางการเงินจำนวนมากผ่าน "การขายทางจิตวิญญาณ" ซึ่งผู้ติดตามถูกกดดันให้ซื้อสินค้าต่างๆ ของลัทธิ อาทิ แจกัน ในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง 

โบสถ์แห่งความสามัคคีก่อตั้งขึ้นในเกาหลีใต้เมื่อปี 2499 โดย ซันเมียงมูน ผู้ประกาศตัวเองว่าพระผู้ไถ่ และลัทธิดังกล่าวได้กลายไปเป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยมีญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีผู้เลื่อมใสและบริจาคเงินจำนวนมากต่อลัทธิ 

ทั้งนี้ โบสถ์แห่งความสามัคคีอ้างว่าพวกเขามีผู้ศรัทธาอย่างแข็งขันต่อลัทธิมากกว่า 100,000 คนในญี่ปุ่น และสามารถรวบรวมเงินบริจาคได้เกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) นับตั้งแต่ปี 2530 และถูกฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยความเสียหายจากเหยื่อกว่า 35,000 ราย ตามข้อมูลของเครือข่าย National Network of Lawyers Against Spiritual Sales ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่อ้างว่า พวกเขาได้รับความเสียหายทางการเงินเนื่องจากคริสตจักร

ญี่ปุ่นมีองค์กรทางศาสนาที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 180,000 องค์กร แต่มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ได้รับคำสั่งให้ยุบองค์กรจากศาล ได้แก่ ลัทธิโอมชินริเกียว ซึ่งสมาชิกได้ก่อเหตุโจมตีด้วยก๊าซซารินในรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียวเมื่อปี 2538 และกลุ่มวัดเมียวคาคุจิ ซึ่งผู้นำถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงสาวกผู้ติดตาม


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/sep/04/japan-may-seek-to-dissolve-moonies-church-in-wake-of-shinzo-abe-killing?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR099Mp2qw2UT4b26wRJlbfBq3ogbPPnExNrbNgCmbygfv57v8_EK426fns