ไม่พบผลการค้นหา
'สมศักดิ์' รมว.สธ. เปิดประชุมวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและวิทยาการผู้สูงวัย มหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ 5 เผย ปี 2573 ไทยต้องการกำลังคนด้านสุขภาพผู้สูงอายุถึง 37,000 คน ปัจจุบันยังขาดอีกกว่า 14,000 คน

วันนี้ (22 มกราคม 2568) ที่ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายสมศักด์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและวิทยาการผู้สูงวัย มหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ 5 “The 5th Thailand Elderly Health Service Forum 2025” โดยมี นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ คณะผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้สนใจและผู้แทนองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยกล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการเกิดลดลง ขณะที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นจากความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อยู่ที่ร้อยละ 21 ของประชากรรวม หรือประมาณ 14 ล้านคน ถือว่าเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุทำให้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่พบในผู้สูงอายุไทย ประมาณ 7,500,000 คน โดยเป็น

- ความดันโลหิตสูง 4,600,000 คน

- เบาหวาน 2,100,000 คน

- โรคหลอดเลือดสมอง 250,000 คน

- โรคหัวใจและหลอดเลือด 190,000 คน

ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาและฟื้นฟูสูงมาก ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น การมองเห็น สุขภาพช่องปาก การเคลื่อนไหว อุปสรรคในการทำกิจวัตรประจำวัน และปัญหาด้านความคิด ความจำ ส่งผลกระทบต่อตัวผู้สูงอายุ ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องการบุคลากรในการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก คาดว่า ในปี 2573 จะมีความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพผู้สูงอายุหรือแคร์เมเนเจอร์ ประมาณ 37,000 คน ซึ่งปัจจุบันยังขาดอีกกว่า 14,000 คน จึงต้องเตรียมพร้อมพัฒนาศักยภาพและการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงวัยไทยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ตามบริบทที่เหมาะสม สามารถคงศักยภาพได้นานที่สุด และอยู่ได้ทุกที่อย่างมีความสุข

นพ.ศักดา กล่าวว่า ในการเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ทุกภาคส่วนรวมถึงกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายเตรียมพร้อมรับมือ เช่น การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพกลุ่มวัยผู้สูงอายุ การสนับสนุนการเพิ่มคุณภาพประชากรวัยเด็ก การส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม การส่งเสริมการสร้างอาชีพให้มีรายได้เพิ่ม การรณรงค์ให้เกิดการออม การปรับสภาพแวดล้อม และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งหัวใจหลักในการขับเคลื่อน คือ “การบูรณาการทุกมิติ… เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของผู้สูงอายุ” เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือและดูแลตนเองได้ยาวนานที่สุด มีภาวะพึ่งพิงช้าที่สุด และสามารถอยู่ในที่ตั้งได้อย่างมีความสุข โดยอาศัยการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและตอบสนองกับความของการผู้สูงอายุ

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันเน้นย้ำจุดมุ่งหมาย ตลอดจนปูทางให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุให้กับบุคลากรทุกสาขาวิชาชีพ ชุมชน ครอบครัว และตัวผู้สูงอายุเอง ได้มีภูมิคุ้มกันในการก้าวสู่สังคมสูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมให้ความรู้กว่า 100 ท่าน และยังมีการจัดนิทรรศการด้านวิชาการและการให้บริการประชาชนจากองค์กรทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทุกมิติ กว่า 40 องค์กร